“รองโจ๊ก” ลงพื้นที่จังหวัดระนอง รับฟังความคิดเห็นคนไทยพลัดถิ่น ที่วอนให้รัฐบาลชะลอโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะกระทบแหล่งทำมาหากิน ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลเพื่อไทย สานต่อโครงการ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อให้สถานะแก่คนไทยพลัดถิ่น ซึ่งวันนี้ยังใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก
วันที่ 22 มกราคม 2567 พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้เดินทางลงไปที่หมู่บ้านห้วยปลิง หมู่ 7 ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง ซึ่งเป็น ถิ่นที่อยู่อาศัยของ ชาวบ้าน กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น
การเดินทางไปครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้พบกับแกนนำชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ และเรียกร้องให้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาดูแลความปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมระหว่างที่เดินทางไปยื่นหนังสือกับนายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี ทั้งยังเรียกร้อง ให้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงพื้นที่ไปดูความเดือดร้อนของชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนไทยพลัดถิ่นมากกว่า 3000 คนในชุมชน ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ด้วย
จากการลงพื้นที่ และได้พูดคุยกับหญิงชราหนึ่งในแกนนำชาวบ้านที่มีสถานะเป็นคนไทยพลัดถิ่น รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยอมรับว่า ชาวบ้าน อยู่ด้วยความยากลำบากแสนเข็ญ กับการใช้ชีวิตที่ไม่มีบัตรประชาชน เนื่องจากรัฐบาล ยังไม่รับรองความเป็นคนไทย ทั้งที่ พรบ.สัญชาติไทย ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม กรณีรับรองคนไทยพลัดถิ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์
ขณะที่ หญิงชรา (ก๊ะ) แกนนำที่เคยออกมาเดินขบวนเรียกร้องโดยการเดินเท้าจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปยังกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 18 วัน ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อขอให้ลงมาแก้ปัญหานี้ จนที่สุด รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ได้ริเริ่มพรบ.สัญชาติ 2555
เธอบอกว่า ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดออกมาจากรัฐบาล ทำให้พวกเธออยู่ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากไม่สามารถไปไหนมาไหนได้สะดวกเพราะไม่มีบัตรประชาชน และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อการประกอบอาชีพได้ ทำได้เพียงการทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งวันนี้กำลังจะถูกเวนคืนพื้นที่ ไปทำโครงการแลนด์บริดจ์อีก
จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย สานต่องานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ออก พรบ.สัญชาติ 2555 สำหรับคนไทยพลัดถิ่นไว้ และขอฝาก บิ๊กโจ๊ก ให้ช่วยไปบอกต่อรัฐบาลให้ด้วยว่า เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลับมาแล้ว ชาวบ้านก็มีความหวัง และขอวิงวอนให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย สานต่อ ความหวังของชาวบ้านพลัดถิ่น ให้ได้มีสถานะคนไทย อย่างที่เคยสัญญาไว้ด้วย
ด้านพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่ารู้สึกเห็นใจชาวบ้านเป็นอย่างมาก หลังจากที่ได้มาเห็นสภาพพื้นที่และความเป็นอยู่ของคนไทยพลัดถิ่น แต่อำนาจในการดูแลเรื่องนี้เป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นจึงทำได้เพียงเป็นตัวกลาง บอกต่อความรู้สึก และความต้องการของชาวบ้าน ไปยังรัฐบาล พร้อมกับแนะนำชาวบ้านว่า ขอให้จัดทำเอกสาร ปัญหาและความเดือดร้อนของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น เสนอไปยังนายกรัฐมนตรีพร้อมกับข้อเรียกร้องของโครงการแลนด์บริดจ์ ที่จะยื่นเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้
ทั้งนี้ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยังบอกเลยว่า จากที่เคยทำการสำรวจเรื่องความปลอดภัยของชาวบ้านโดยเฉพาะตามชายขอบ พบว่าทั้งประเทศยังมีกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นอีกมาก ที่ไม่ ได้รับสถานะเป็นคนไทย ทั้งที่เกิดและโตในประเทศไทย จึงทำให้คนเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิ์การคุ้มครองตามสิทธิพลเมือง และยังติดตาม ตามรอย ได้ยาก เมื่อเกิดปัญหาหรือคดีอาชญากรรม ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกปัญหา ที่เชื่อมั่นว่าหากมีการดำเนินการสานต่อ ก็จะทำให้คนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น