พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เร่งแก้ประวัติอาชญากร “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน”พร้อมแถลงผลการปรับปรุงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี
ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566
ด้วยปรากฎว่าปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบประวัติของบุคคลมากขึ้น หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน มีความต้องการบุคคลที่ปราศจากประวัติอาชญากรรมเข้าทำงานในองค์กร/บริษัทของตน จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ซึ่งประชาชนต้องแสดงผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมประกอบในการสมัครงานด้วย ประชาชนซึ่งเคยมีประวัติถูกฟ้องคดีอาญา แต่ศาลยกฟ้อง จะยังมีประวัติอาชญากรรมอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้อาจถูกตัดสิทธิ์ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน ขาดโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตใหม่เฉกเช่นประชาชนคนอื่น
ในการนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ โดยกองทะเบียนประวัติอาชญากรเร่งศึกษาและแก้ไขระเบียบฯ ในเรื่องดังกล่าว เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ในสังคม และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านการทะเบียนประวัติอาชญากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเร่งด่วน โดยล่าสุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ประกาศใช้ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566 แล้ว เมื่อ 27 เมษายน 2566 ซึ่งปัจจุบันระเบียบฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อ 27 พฤษภาคม 2566
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เดิมตามระเบียบการปฏิบัติของตำรวจนั้นได้กำหนดให้นำข้อมูลและลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหามาจัดเก็บลงในฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ก่อน แม้ต่อมาพนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ก็ไม่ได้นำรายชื่อของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรโดยอัตโนมัติ แต่สถานีตำรวจเจ้าของคดีต้องรายงานผลคดีมายังกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อคัดชื่อออก ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงได้มีการจัดทำโครงการ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ในสังคม โดยระเบียบฉบับนี้มีการแก้ไขปรับปรุงการจัดเก็บประวัติบุคคลออกเป็น 3 ทะเบียน ได้แก่
• ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา คือข้อมูลบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล หรือฟ้องต่อศาลแต่คดียังไม่ถึงที่สุด ห้ามเปิดเผย เว้นแต่ใช้เพื่องานสืบสวนสอบสวน งานสำนักพระราชวัง งานสมัครเข้ารับราชการ
• ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร คือ ข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด โดยศาลลงโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือรอการลงโทษ หรือมีเพียงโทษปรับ หรือกักขัง รวมถึงกระทำผิดโดยประมาท ห้ามเปิดเผยทั่วไปเว้นแต่ใช้เพื่อ งานสืบสวนสอบสวน งานขออนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด
• ทะเบียนประวัติอาชญากร คือ ข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด โดยศาลลงโทษ จำคุกเกินกว่า 1 เดือนขึ้นไป โดยไม่รอการลงโทษ ยกเว้นการกระทำผิดโดยประมาท
รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการลบหรือถอนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติอาชญากร ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนอีกด้วยที่เข้าหลักเกณฑ์ตามระเบียบ เช่น เมื่อศาลยกฟ้อง อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง เป็นต้น โดยเมื่อมีการแบ่งทะเบียนในการจัดเก็บข้อมูลตามระเบียบฯ นี้ จะทำให้มีบุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรเพียง 3,708,359 ราย จากทั้งหมด 13,079,324 ราย