จากกรณีเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2565 สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน ของประเทศอังกฤษ ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับ แรงงานของโรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอด ถูกบังคับใช้อย่างไม่ถูกต้อง เมื่อปี 2560 – 2563 มีแรงงานชาวเมียนมา ไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการทำงานตัดเย็บผ้า โดยตกอยู่ในสภาพบังคับให้ทำงานโดยตลอด นั้น
ต่อมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศพดส.ตร. ได้สั่งการให้ สภ.แม่สอด และตำรวจภูธรภาค 6 ดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจนทราบว่าโรงงานดังกล่าวคือ โรงงานผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของบริษัท วี เค การ์เม้นท์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 608 หมู่ที่ 7 ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. จึงได้เดินทางมาตรวจสอบโรงงาน วี เค การ์เมนท์ ดังกล่าว และได้เรียกประชุมสั่งการให้มีการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลของโรงงานและให้มีการสัมภาษณ์คัดแยกเหยื่อ เพื่ออำนวยความยุติธรรมในกรณีดังกล่าวโดยในเบื่องต้นมีการคัดแยกเหยื่อจำนวน 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 วันที่ 28 – 29 ธ.ค.2565 ทีมสหวิชาชีพ ดำเนินการคัดแยกเหยื่อ จำนวน 120 คน
ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 ม.ค.2566 ทีมสหวิชาชีพ ดำเนินการคัดแยกเหยื่อ จำนวน 49 คน
โดยทั้ง 2 ครั้งยังไม่ปรากฏว่ามีความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หรือบังคับใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย ต่อจากนั้นองค์กรอิสระ ( NGO ) ขอให้มีการคัดแยกเหยื่อเพิ่ม ทีมสหวิชาชีพจึงได้คัดแยกเหยื่อ
ครั้งที่ 3 ในวันที่ 24 – 27 ม.ค.2566 ทำการสัมภาษณ์ ลูกจ้างโรงงานจำนวน 20 ราย ผลการคัดแยกพบการกระทำความผิด คือ
1.ป.อาญา ความผิดอาญาฐาน ฉ้อโกง, บัตรอิเล็กทรอนิกส์
2.พรก.บริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว “ยึดเอกสารสำคัญฯ”
3.พรบ.คุ้มครองแรงงาน “ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับความยินยอม”
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินยังพบความผิดปกติในการจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง โดยอดีตผู้จัดการโรงงานและทีมงานได้นำบัตรเอทีเอ็มของลูกจ้าง ไปกดเงินสดและทำการหักเงินบางส่วน ก่อนที่จะจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง
เบื้องต้นพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 3 ราย คือ
1.นายธนกฤต รัตนชัยภูมิ
2.นายศรัณย์ สารบรรณ
3.นางสาววิภารัตน์ กงชัยภูมิ
ซึ่งต่อมาได้ติดตามจับกุมผู้ต้องหาได้ครบทั้ง 3 ราย นอกจากนี้ยังได้ออกหมายเรียกให้ นางศิริกุล ตติยวงศ์ไพบูลย์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท วี เค การ์เมนท์ คนที่ 1 มารับทราบข้อกล่าวหา ในความผิดฐาน “เป็นนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรง พ.ศ.2541
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้กับ นางสาวดวงฤทัย ตติยวงศ์ไพบูลย์ บุตรสาว กรรมการผู้จัดการคนที่ 2 มารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐาน “เป็นนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานโดนไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ฯ กล่าวว่า คดีดังกล่าว เป็นคดีที่สื่อมวลชนไทย, สื่อมวลชนต่างประเทศ และประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลไทยก็ตระหนักและให้ความสำคัญในประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในคดีดังกล่าวนี้ ได้มีการประชุม เร่งรัด และติดตามการดำเนินคดีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดในคดีได้ครบ ทุกราย ได้มีการกำชับ ชุดพนักงานสอบสวนให้มีความรัดกุมในการรวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งให้มีความละเอียดรอบคอบใช้หลักผู้เสียหายเป็นจุดศูนย์กลาง รวมถึงอำนวยความยุติธรรมในการดำเนินคดี