วันที่ 20 เมษายน 2566 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มอบหมาย พล.ต.อ.ชินภัทร สารสิน รอง ผบ.ตร./ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศอ.ปส.ตร. ) พร้อมคณะผู้แทนทางการไทย ประกอบด้วย พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. พล.ต.ท.สมนึก น้อยคง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร. พล.ต.ต.พรพิทักษ์ รู้ยืนยง รอง ผบช.ปส. พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. และนายคณิศร ภาพีรนนท์ ทูต ปปส.ประจำ สปป.ลาว ได้ร่วมหารือว่าด้วยเรื่องกลไกความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
โดยมีคณะทางการลาว ประกอบด้วย พล.จัตวา แก่นจัน พรมมะจัก รองหัวหน้ากรมตำรวจใหญ่ หัวหน้าคณะ พ.อ.อินปง จันทวงสา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อตรวจตราและควบคุมยาเสพติด พ.อ.แพง ไชยะวง รองหัวหน้ากรมตำรวจสกัดกั้นและต้านยาเสพติด พ.ท.พุดสวาด สูนทะลา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อตรวจตราและควบคุมยาเสพติด และ พ.ท.ดาลิน สุดาจัน หัวหน้าแผนกบริหาร สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อตรวจตราและควบคุมยาเสพติด ณ กรุงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้องค์กร บังคับใช้กฎหมาย ระหว่าง 2 ประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายในการปฏิบัติงานร่วมกัน ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด มีรายละเอียดดังนี้
1.ทางการไทย และลาว ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ยกระดับนโยบายเป็นวาระแห่งชาติ และพร้อมให้ความร่วมมือ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในทุกมิติ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
2.ขอความร่วมมือการจับกุม ผู้ต้องหา มีหมายจับคดียาเสพติด ที่หลบหนีไปซุกซ่อนตัวอยู่ในลาว หากจับกุมตัวได้ ให้แจ้ง มาที่ ศอ.ปส.ตร. เพื่อจะได้รับตัวมาดำเนินคดี และขยายผลไปยังเครือข่ายผู้ค้า
3.ประสานข้อมูลการลักลอบลำเลียงยาเสพติดตามแนวชายแดน จากลาวข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งไทย เพื่อให้การสกัดกั้นจับกุม ได้เพิ่มมากขึ้น
4.เพิ่มความเข้มในการสืบสวนจับกุม การลักลอบลำเลียงยาเสพติดประเภท ยาไอซ์,เฮโรอีน,เคตามีน ผ่านระบบขนส่ง Logisticไปยังประเทศที่สาม เช่น ออสเตรเลีย, ไต้หวัน เป็นต้น
5.แนะนำการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูงเช่น เครื่องตรวจสารเสพติด, ไลเซนเพลท ซึ่ง DEA สหรัฐอเมริกา เป็นผู้สนับสนุน โดยทางการลาว จะได้ศึกษาข้อมูล เพื่อพัฒนาระบบงานต่อไป
6.ทางการไทย แนะนำ โครงการชุมชนยั่งยืน แก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติ เป็นโครงการ ป้องกัน และบำบัดยาเสพติดในชุมชน ที่ได้ผล ไม่ได้นำผู้เสพไปบำบัด ในค่ายบำบัด ซึ่งเกิดปัญหาในการสร้างเครือข่ายเป็นผู้ค้า ทางการลาว ให้ความสนใจ ขอศึกษาดูงานโครงการดังกล่าว
เสร็จสิ้นการประชุมหารือ ผลการประชุมสร้างประโยชน์อย่างสูง กับทางราชการทั้ง 2 ประเทศ และมิตรภาพในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป