“ผบ.ตร.” เผย สงกรานต์ 2566 อุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลงตามเป้าหมาย บังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลักร่วม 500,000 ราย จับกุมเมาแล้วขับ 23,278 คดี พร้อมปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯ
วันนี้ (18 เม.ย. 66) เวลา 11.00 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. / ผอ.ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุฯ ตร. , พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.วีระ จิรวีระ รอง จตช. แถลงผลการดำเนินการในการอำนวยการจราจร ป้องกันและลดอุบัติเหตุ และการบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน เทศกาลสงกรานต์ 2566 ระหว่าง 11 – 17 เม.ย.66 พร้อมปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯ ตร.
ผบ.ตร. เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พอใจผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ช่วยดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการเดินทางให้กับประชาชน และการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะข้อหาเมาแล้วขับ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ โดยในส่วน ของ ตร. นั้น ผบ.ตร. ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯ ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.66 เป็นต้นมาจนถึงวันสุดท้ายคือ 18 เม.ย.66 ซึ่งทุกวันจะมีการประชุมติดตามสถานการณ์การจราจร และการปฏิบัติด้านการบังคับใช้กฎหายของแต่ละหน่วย ผ่านระบบ VDO Conference โดยมี พล.ต.อ.รอยฯ รอง ผบ.ตร. และ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ที่รับผิดชอบงานจราจร เป็นผู้กำกับดูแลในแต่ละวัน และให้หน่วยระดับ บช., ภ.จว. และทุกสถานีเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้เพื่อลดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ ตามค่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด สรุปผลการดำเนินการในแต่ละด้าน มีดังนี้
1. การอำนวยความสะดวกและจัดการจราจร จัดกำลังตำรวจกว่า 100,000 นาย ดูแลการจราจรตลอด 7 วัน มีปริมาณรถ เข้า-ออกจาก กทม. รวมจำนวน 6,777,659 คัน ออกจาก กทม. จำนวน 3,318,418 คัน และเข้า กทม. จำนวน 3,459,241 คัน วันที่ประชาชนเดินทางออกจาก กทม. มากที่สุด คือวันที่ 12 เม.ย.66 วันที่ประชาชนเดินทางเข้า กทม. มากที่สุด คือวันที่ 16 เม.ย.66 มีการเปิดช่องทางพิเศษ (Reversible Lane) จำนวนทั้งสิ้น 82 ครั้ง (ระบายรถขาออก 32 ครั้ง / ขาเข้า 50 ครั้ง) รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ที่ขออนุญาตเดินรถในช่วงเวลาห้าม ผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 41,941 คัน อนุญาตให้เดินรถได้ 41,348 คัน (รถที่ได้รับอนุญาตมากที่สุด คือ รถบรรทุกน้ำมันหรือแก๊ส (ร้อยละ 49.9) รองลงมา คือ รถบรรทุกอาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค (ร้อยละ 40.0) ไม่อนุญาตจำนวน 593 คัน และพบผู้ฝ่าฝืนเดินรถในเวลาห้าม จำนวน 327 ราย เนื่องจากเป็นสาเหตุให้การจราจรติดขัด
2. การบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก มีการตั้งจุดตรวจทุกวันเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืน ทั่วประเทศ มีจำนวนจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร 2,183 จุดตรวจ จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ 1,637 จุดตรวจ พบผู้ที่ฝ่าฝืนทั้งสิ้น 499,282 ราย เป็น ข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา 23,278 ราย (มากกว่าค่าเฉลี่ยสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลัง คิดเป็น 21.31%) ขับรถเร็วเกินกำหนด 195,118 ราย/ไม่สวมหมวกนิรภัย 94,745 ราย/ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย 24,967 ราย โดย 10 ข้อหาหลักนี้ จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการดำเนินคดีเมาแล้วขับ เป็นการนำผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ซึ่งมีโอกาสก่ออุบัติเหตุออกจากท้องถนนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุได้จำนวน 23,278 คน
3. การป้องกันและลดอุบัติเหตุ รัฐบาลกำหนดค่าเป้าหมายให้ จำนวนครั้ง การเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (admit) ต้องลดลงไม่น้อยกว่า 5 % เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (พ.ศ.2562 2564 และ2565) ซึ่งจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุลดลงตามเป้าในทุกด้าน
- การเกิดอุบัติเหตุ 7 วัน ของเทศกาลสงกรานต์ 2566 เกิดจำนวน 2,203 ครั้ง ลดลงจากค่าเฉลี่ยสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลัง (2,540 ครั้ง) เป็นจำนวน -337 ครั้ง (ลดลง -13.27 %)
- จำนวนผู้เสียชีวิต 7 วัน ของเทศกาลสงกรานต์ 2566 มีจำนวน 264 ราย ลดลงจากค่าเฉลี่ยสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลัง (314 ราย) เป็นจำนวน -50 ราย (ลดลง -15.83 %)
- จำนวนผู้บาดเจ็บ 7 วัน ของเทศกาลสงกรานต์ 2566 มีจำนวน 2,208 คน ลดลงจากค่าเฉลี่ยสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลัง(2,556 คน) เป็นจำนวน -348 คน (ลดลง 13.62 %)
ทั้ง 3 สถิติถือว่าลดลงมากกว่า 5% สำเร็จตามค่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด ทั้งนี้ บช. ที่ลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนนได้มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ตำรวจภูธรภาค 3 ,4, และ ภาค 2 บช. ที่ลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ตำรวจภูธรภาค 9 ,3 , ลำดับที่สามเท่ากัน คือ บช.น. และ ภาค 6 จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มีจำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ พังงา และพัทลุง
4. สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด (36.67%) ดื่มแล้วขับ (27.23%) และตัดหน้ากระชั้นชิด (17.63%) ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ รถจักรยานยนต์ (82.01%) รถกระบะ (7.05%) และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (2.96%) สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บมากที่สุด คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย (65.02%) และดื่มแล้วขับ (21.10%)
ผบ.ตร. กล่าวเสริมว่า การอำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เทศกาลปีใหม่ 2566 ตร. นั้น เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ตำรวจอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ ลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ซึ่งหลังจากนี้ ได้สั่งการให้ ทุกกองบัญชาการสรุปข้อมูลและถอดบทเรียน ปัญหาการปฏิบัติโดยเฉพาะวิเคราะห์สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ ทุกมิติ เพื่อนำมาใช้ในการป้องกันอุบัติเหตุและอำนวยการจราจรในช่วงวันหยุดยาวครั้งต่อไป