จากกระแสการระบาดของการจำหน่ายสินค้า ลำโพงยี่ห้อดัง Marshall ที่ผิดกฎหมาย ทั้งในส่วนของการไม่ได้รับการตรวจตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) สินค้าปลอมแปลง และความไม่ชัดเจนจากแหล่งที่มาของสินค้า ประกอบกับตามนโยบายของรัฐบาล ให้ทำการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร เป็นเหตุให้ภาครัฐได้รับความเสียหายจำนวนมาก
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ โดย พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.คงกฤช เลิศสิทธิกุล รอง ผบก.ปอศ. และ พ.ต.อ.ธรรมปพน ชาวกำแพง ผกก.2 บก.ปอศ.
ได้สั่งการให้ พ.ต.ท.วันเผด็จ จันยะรมณ์ รอง ผกก.2 บก.ปอศ. ทำการสืบสวนจับกุมกลุ่มขบวนการลักลอบนำสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศเข้ามาโดยผิดกฎหมาย จากการสืบสวนพบการจำหน่ายสินค้าลำโพงยี่ห้อ Marshall แพร่หลายในท้องตลาด
ล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอศ.ได้นำหมายค้น เข้าทำการตรวจค้น บ้านเลขที่ 59/849 ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายธนกฤษ (สงวนนามสกุล) อายุ 47 ปี แสดงตนเป็นผู้ดูแลสถานที่ ผลการตรวจค้นพบ ลำโพงยี่ห้อ Marshall จำนวนหลายรายการ ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้สอบถามถึงเอกสารการที่เกี่ยวกับการนำเข้าและเอกสารการเสียภาษี นายธนกฤษ รับว่าสินค้าดังกล่าวไม่มีเอกสารการเสียภาษีแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจยึดสินค้าดังกล่าวนำส่งพนักงานสอบสวน และร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา โดยกล่าวหาว่า ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 นายอชิตพัชร์ เครือวัลย์ ผู้เป็นตัวแทนการนำเข้าและจัดจำหน่ายลำโพงยี่ห้อ Marshall แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย มาร่วมตรวจสอบสินค้าดังกล่าว ยืนยันว่าเป็นลำโพง Marshall ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอศ.ยึดมา เป็นสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบในการนำเข้าจากทางบริษัทแต่อย่างใด และส่งผลให้สินค้าไม่อยู่ในความคุ้มครองและประกันสินค้าหากกรณีสินค้าได้รับความเสียหาย โดยที่ผู้บริโภคจ่ายเงินซื้อลำโพง Marshall ในราคาใกล้เคียงกับสินค้านำเข้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย “ดูจากลักษณะภายนอกกล่องบรรจุลำโพงมีคุณภาพตัวหนังสือชัดคมเข้ม มีสเปคข้อมูลของตัวสินค้าถูกต้องครบถ้วน ด้านล่างกล่องจะระบุรุ่นและหมายเลขเครื่อง แกะกล่องด้านในจะมีกระดาษลอนลูกฟูกมีตราโลโก้ประทับอยู่ มีคู่มือการใช้งานและความปลอดภัยในการใช้สินค้า สายไฟปลั๊กไม่มีสติกเกอร์ มอก. ตัวลำโพงการเย็บหนังหุ้มประกอบเรียบเนียน กระจังหน้าลำโพงไม่บุบหรือบุ๋มเมื่อใช้มือกด ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นสินค้าของจริง แต่ไม่มีสติกเกอร์ มอก.จึงสรุปได้ว่าไม่ได้นำเข้าโดยบริษัทฯ ที่ได้รับมอบนำเข้ามาจำหน่ายอย่างแน่นอน”
พ.ต.อ.ธรรมปพน กล่าวว่าสินค้าลำโพงบลูทูธเหล่านี้ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอศ.ตรวจยึดมานี้ตรวจสอบโดยตัวแทนจำหน่ายแล้วยืนยันว่าเป็นสินค้าของแท้ แต่มีการนำเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศโดยผิดกฎหมาย เป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ประชาชนที่หลงซื้อเอาไปใช้จะไม่ได้รับการประกันความเสียหายจากบริษัทผู้นำเข้า เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่ได้ผ่านตัวแทนผู้นำเข้ามาเอง บก.ปอศ. แนะนำพี่น้องประชาชนขอให้เลือกซื้อสินค้าจากตัวแทนจำหน่ายที่ถูกต้องจึงจะได้รับการประกันความเสียหายตามอายุการใช้งานสินค้านั้นๆ และที่สำคัญสินค้าเหล่านี้หลบเลี่ยงการเสียภาษีทำให้รัฐสูญเสียขาดรายได้ที่จะนำไปบริหารประเทศชาติเรา
จากนี้พนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอศ.จะแจ้งข้อหานายธนกฤษ ผู้ต้องหานำสินค้าเข้าในประเทศโดยไม่ใช้ผู้นำเข้าที่ชอบตามกฎหมายจะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 ผู้ใดนําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการ ศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือ รับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน สิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ริบของนั้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่ และ มาตรา 246 ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจําหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจํานําหรือรับไว้ โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 242 ต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือทั้งจําทั้งปรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา บช.ก.โดย บก.ปคบ.เพิ่งจับลำโพงยี่ห้อดัง Marshall ปลอม ไม่มี มอก.จำนวนกว่า 200 หน่วย มูลค่ากว่าสามล้านบาท ดำเนินคดีตาม พรบ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 ประกอบ มาตรา108 “มีไว้เพื่อจําหน่าย ซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของ บุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร” โทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท