อ้างตัวเป็นเภสัชกร ลักลอบขายยาแก้ไอฝาแดงให้กลุ่มวัยรุ่น

วันที่ 21 กันยายน 2565 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. ธรากร เลิศพรเจริญ, พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์, พ.ต.อ.สมเกียรติ ตันติกนกพร รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาโดย นพ. ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลงานจับกุม น.ส.ปทุมพร (สงวนนามสกุล) อ้างตัวเป็นเภสัชกรขายยาแก้ไอให้กลุ่มวัยรุ่น ตรวจยึดของกลางมูลค่ากว่า 2,000,000 บาท

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก.ปคบ.) ได้รับแจ้งเบาะแสจากสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีการแพร่ระบาดของยาเสพติดชนิด 4×100 อย่างรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น โดยมีการนำยาแก้แพ้, ยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อม หรือยาบางชนิดมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำมาผสมกับน้ำกระท่อมดื่มเพื่อความมึนเมาและเสพติดเป็นจำนวนมาก จึงทำการสืบสวนพบว่ามีการขายยาแก้แพ้หรือยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อมยี่ห้อ ดาทิสซิน (DATISSIN SYRUP) หรือ “ยาฝาแดง” และยาแก้แพ้ ยี่ห้อ “อเลอร์ยิ่น” (ALLERGIN SYRUP) หรือที่เรียกในกลุ่มวันรุ่นว่า “ยาฉลากฟ้า” ซึ่งเป็นยาที่มีส่วนผสมของตัวยา chlorpheniramine maleate ซึ่งต้องจำหน่ายโดยเภสัชกร ที่ร้านยาต้นฝน ถ.สายไหม แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพฯ และมีการจัดโปรโมชั่นการขายยาดังกล่าวในลักษณะ 10 แถม 1 เพื่อกระตุ้นการขาย โดยผู้ขายไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม

ต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจสอบร้านขายยา และสถานที่จัดเก็บยาซึ่งดัดแปลงจากร้านขายยาเก่าที่ถูกระงับใบอนุญาตไปแล้ว จำนวน 2 จุด ดังนี้

1. ร้านยาต้นฝน เลขที่ 123/10 ถ.สายไหม แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพฯ จับกุม น.ส.ปทุมพร (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นผู้ขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกร และพบของกลางที่เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 จำนวน 4 รายการ ดังนี้

1. ยายี่ห้อแพคมาดอล PACMADOL® ซึ่งมีสถานะยกเลิกทะเบียนตำรับยา (ยาปลอม) จำนวน 2,000 เม็ด

2. ยาแคปซูลสีเขียว-เหลือง (แบ่งบรรจุซองละ 10 เม็ด จำนวน 200 ซอง) จำนวน 2,000 เม็ด

3. ยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อมยี่ห้อดาทิสซิน (DATISSIN SYRUP) (ฝาแดง) ชนิดน้ำเชื่อม จำนวน 270 ขวด

4. ยาแก้แพ้ ยี่ห้อ อเลอร์ยิ่น (ALLERGIN SYRUP) จำนวน 185 ขวด

2. บ้านเลขที่ 123/13 ถ.สายไหม แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นร้านขายยาเก่าที่ถูกพักใช้ใบอนุญาตขายยาไปแล้ว ใช้จัดเก็บยาโดยไม่ได้รับอนุญาต พบของกลางที่เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 จำนวน 3 รายการ ดังนี้

1. ยายี่ห้อแพคมาดอล PACMADOL® ซึ่งมีสถานะยกเลิกทะเบียนตำรับยา (ยาปลอม) จำนวน 2,000 เม็ด

2. ยาแก้แพ้แก้ไอมีทะเบียน รวม 26 ยี่ห้อ จำนวน 19,592 ขวด

3. ยาทรามาดอลมีทะเบียน จำนวน 164,550 แคปซูล

จากการตรวจสอบพบว่าสถานที่ที่ใช้จัดเก็บยา เคยเป็นร้านขายยาซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ อย.ตรวจสอบและพักใช้ใบอนุญาตเนื่องจากได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการขายยาแก้ไอที่ผิดกฎหมาย 2 ครั้งเมื่อปี 2561 และ 2563 โดยใช้วิธีการเปลี่ยนชื่อและขออนุญาตเปิดร้านขายยาใหม่ กระทั่งปี 2564 จึงขออนุญาตเปิดร้านขายยาดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับร้านเดิม และอีกกว่า 12 ร้าน ในพื้นที่สายไหม หนองจอก ธัญบุรี เพื่อจะได้มีโควต้าในการสั่งยาปริมาณมากขึ้น
แล้วนำมาจัดเก็บไว้ที่สถานที่เก็บยาดังกล่าว

เบื้องต้น น.ส.ปทุมพรฯ ผู้ต้องหารับว่าจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และทำงานกับร้านยาดังกล่าวมาแล้วเป็นเวลา 4 ปี โดยมีหน้าที่ขายยาให้กับลูกค้าทั่วไป ซึ่งตนเองไม่ได้มีความรู้ด้านเภสัชกรรมแต่อย่างใด ส่วนมากจะมีเพียงแค่วัยรุ่นมาซื้อยาแก้แพ้หรือยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อม เฉลี่ยวันละ 80-100 ขวด ซึ่งเป็นที่รู้กันในกลุ่มวัยรุ่นว่าที่ร้านขายยาแก้แพ้ แก้ไอ แก้ปวด สำหรับผสมยาเสพติด 4×100 เจ้าหน้าที่จึงได้จับกุมตัวผู้ต้องหาพร้อมตรวจยึดของกลาง
ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 ดำเนินคดี โดย น.ส.ปทุมพรฯ ถูกดำเนนิคดีข้อหา มิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพฯ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต และศาลอาญามีนบุรีพิพากษาลงโทษ ปรับ 17,500 บาท จากการสืบสวนสอบสวนขยายผลผู้อยู่เบื้องหลังซึ่งเป็นเจ้าของยาที่ผิดกฎหมาย โดยศาลอนุมัติหมายจับ นางโชติกา (สงวนนามสกุล) และนายธนกฤติ  (สงวนนามสกุล) ในข้อหา “ร่วมกันขายยาปลอม และร่วมกันย้ายสถานที่เก็บยาโดยไม่ได้รับอนุญาต”

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม

1.  พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510

1.1  มาตรา 21 ฐาน “ผู้รับอนุญาตขายยาไม่จัดให้มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

1.2  มาตรา 26(6) ฐาน “ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ระวางโทษปรับ 2,000 – 10,000 บาท

1.3  มาตรา 26(7) ฐาน “ขายยาอันตรายเกินจำนวนตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายยา” ระวางโทษปรับ 2,000 – 10,000 บาท

1.4  มาตรา 39(7) ฐาน “ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ (เภสัชกร) ไม่ควบคุมการทำบัญชียา” ระวางโทษปรับ 1,000 – 5,000 บาท

1.5  มาตรา 30 ฐาน “ย้ายสถานที่เก็บยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษปรับ 1,000 – 3,000 บาท

1.6  มาตรา 72(1) ฐาน “ขายยาปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท

2.  พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 มาตรา 28 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยมิได้
ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า การปลดล็อก “พืชกระท่อม” ออกจากยาเสพติดประเภท 5 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนบางกลุ่มโดยเฉพาะเยาวชนใช้โอกาสนำเอาน้ำกระท่อมไปใช้เป็นส่วนผสมกับยาแก้ไอ ยาแก้แพ้ชนิดน้ำเชื่อม หรือยาแก้ปวดในลักษณะสารเสพติดที่เรียกว่า “4×100” แล้วนำมาดื่มเพื่อให้เกิดอาการมึนเมา เสียสุขภาพและอาจก่อเกิดเหตุอาชญากรรมสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนตามมา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินกวดขันจับกุมร้านขายยารวมถึงเครือข่ายที่นำยาดังกล่าวไปขายเพื่อตัดตอนการเข้าถึงยาเสพติดชนิด 4×100 ให้ถึงที่สุด ทั้งนี้การดำเนินการด้านการปราบปรามเป็นการแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง ต้องอาศัยผู้ปกครองหมั่นสอดส่องดูแลบุตรหลาน อย่าได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการใช้ยาในลักษณะดังกล่าว หากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค

ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปัญหาการนำยาไปใช้
ผิดวัตถุประสงค์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบเยาวชนนำ “ยาแก้แพ้แก้ไอ” และ “ยาทรามาดอล” มาใช้ผิดวัตถุประสงค์ รับประทานเพื่อให้เกิดอาการมึนงงและเมา

อย. มีมาตรการกำกับดูแลการจำหน่ายยากลุ่มดังกล่าวตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การผลิต/นำเข้า การขายให้ร้านขายยา และการจ่ายให้ผู้ป่วย ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ บันทึกการรับ จ่าย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ อย. ตรวจสอบ หากตรวจพบมีการซื้อขายยาในทางที่ผิด นอกจากจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ยังถูกพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 120 วันด้วย
ตั้งแต่ปี 2561 – ปัจจุบัน มีร้านขายยาที่กระทำผิดกฎหมายถูกพักใช้ใบอนุญาตไปแล้วกว่า 65 ร้าน, โรงงานผลิต
2 แห่ง และเพิกถอนบริษัทขายส่งยา 1 แห่ง หากผู้ใดพบเบาะแสร้านขายยาที่มีพฤติกรรมขายยาในทางที่ผิด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: [email protected] ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ