โฆษก ตร. เผย กรณีไม่ยอม “เป่าเมา” หรือ “ตรวจสารเสพติด” กฎหมายให้สันนิษฐาน “เป็นผลเสีย” ต่อผู้นั้นเอง หวั่นพี่น้องประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน เกิดผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม เจตนารมณ์ของกฎหมายจราจรเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ไม่อยากให้เกิดความสูญเสียจากคนเมา
วันที่ 17 พ.ค.65 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้ให้ข้อมูลกับพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายในทำนองว่า พี่น้องประชาชนสามารถไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพิสูจน์วัดปริมาณแอลกอฮอล์ในการขับขี่รถ หรือ ที่เรียกกันโดยเข้าใจง่ายว่า “เป่าเมา” โดยอ้างจากข้อกฎหมายบางประการ และได้เทียบเคียงไปถึงการตรวจหาสารเสพติดด้วยนั้น
พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ กล่าวว่า การให้ข้อมูลในลักษณะดังกล่าว อาจทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเรียนให้ทราบว่า “เป็นหลักสากล ในประเทศที่ปกครองด้วยนิติรัฐ กฎหมายไม่อนุญาตให้แสวงหาหลักฐานจากร่างกายของผู้เกี่ยวข้องในคดี เว้นแต่จะได้รับความยินยอม”
ในส่วนของกฎหมายประเทศไทย มีระบุไว้ใน “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1” “ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามมาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้
“ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี” หากการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง “จำเป็นต้องตรวจเก็บตัวอย่าง เลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรมหรือส่วนประกอบของร่างกายจากผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือบุคคล ที่เกี่ยวข้อง” ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจดังกล่าวได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
ทั้งนี้จะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออนามัยของบุคคลนั้น และ “ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องให้ความยินยอม” “หากผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายไม่ยิมยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร” หรือผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายกระทำการป้องปัด ขัดขวาง มิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร “ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้น” ว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามผลการตรวจพิสูจน์ ที่หากได้ตรวจพิสูจน์แล้ว “จะเป็นผลเสียต่อผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายนั้น” แล้วแต่กรณี
ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ตามมาตรานี้ ให้สั่งจ่ายจากงบประมาณตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม หรือสำนักงานอัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี กำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง”
ในกรณีเกี่ยวกับ “พระราชบัญญัติจราจรทางบก” นั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน “หากเจ้าหน้าที่พบผู้ขับขี่มีสัญญาณว่า อาจจะเกิดอาการเมา หรืออาจจะดื่มสุรามา ก็มีอำนาจที่จะตรวจพิสูจน์ หากผู้ขับขี่ไม่ยินยอม ก็จะเป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้เลยว่า ผู้ขับขี่นั้นอาจเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น” ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 43 และ มาตรา 142 ซึ่งจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “ขอให้พี่น้องประชาชนใช้ความระมัดระวังในการรับฟังข้อมูล” จากแหล่งข่าวต่าง ๆ โดยเฉพาะจากสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อกฎหมายได้จากเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหรือเว็บไซต์ของสถานศึกษา ตลอดจนสถาบันที่มีภาควิชากฎหมาย และหากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายหรือแจ้งเบาะแสการกระทำผิด สามารถแจ้งได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้านท่านหรือสายด่วน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง