จิตอาสา ปอท.เตือนภัยออนไลน์ หลอก-ลวง-หลง-โอน…ต้องมีสติ

จิตอาสาตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปอท. ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ประดิษฐ์ เปการี รอง ผบก.ปอท., พ.ต.อ.อมรชัย ลีลาขจรจิตร ผกก.กลุ่มงานสนับสนุนฯ บก.ปอท. จัดทำจิตอาสาออนไลน์ตำรวจสอบสวนกลาง โดย บก.ปอท. ซึ่งในครั้งนี้จะขอนำเสนอกลโกลของแก๊ง “พัสดุตกค้าง” Parcel Post Scam

ในสถานการณ์ปัจจุบัน คนไทยมีสถิติการสั่งซื้อของออนไลน์มากขึ้น เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ประกอบกับการพัฒนาของแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้า เอื้ออำนวยให้เกิดความสะดวกต่อการช๊อปปิ้งออนไลน์ บางคนอาจสั่งซื้อสินค้าหลายรายการ จนบางครั้ง จำไม่ได้ว่าได้สั่งซื้ออะไรไปบ้าง หรือสั่งสินค้าเพียงชิ้นเดียวก็จริง แต่อยู่ระหว่างรอสินค้ามาส่ง แล้วเราก็ไม่รู้วิธีการบริหารจัดการของผู้ให้บริการขนส่งด้วยว่ามีวิธีการอย่างไร มิจฉาชีพได้อาศัยช่องโหว่ของข้อเท็จจริงนี้ รวมตัวกันเป็นแก๊งขึ้นมา ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ให้บริการขนส่ง รวมถึงปลอมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการหลอกลวงเราว่ามีพัสดุตกค้าง ถูกตีกลับ และในกล่องพัสดุนั้นมีสิ่งของผิดกฎหมายบรรจุอยู่ สุดท้ายหลอกให้เราเสียค่าปรับ โดยโอนเงินไปยังบัญชีของแก็งค์นี้ เมื่อรู้ตัวอีกทีก็สูญเงินไปหลายบาท เรามาดูกลโกลของแก๊งเหล่านี้ พร้อมวิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อกันครับ

  1. “หลอก” เริ่มด้วยมีเบอร์แปลกโทรเข้ามาที่เบอร์เรา โดยจะสอบถามเราก่อนว่าได้เคยสั่งของออนไลน์หรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริง คนไทยเราส่วนใหญ่ ก็เคยสั่งของออนไลน์กันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย และบางครั้ง เราก็อาจหลงลืมไปว่า เราได้เคยสั่งของอะไรไว้ที่อยู่ระหว่างการจัดส่งหรือไม่ เราก็อาจจะตอบกลับไปว่าเคยหรือไม่เคย คราวนี้แก๊งพวกนี้จะแจ้งเราว่า มีพัสดุถูกตีกลับโดยมีเราเป็นผู้รับ หรือผู้ส่ง แล้วแต่ว่าแก๊งพวกนี้จะอุปโลกขึ้นมา และในกล่องพัสดุนั้นมีสิ่งของผิดกฎหมายต่างๆเช่น บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม หนังสือเดินทางซึ่งเป็นของต้องห้ามหรือเป็นของผิดกฎหมาย สร้างสถานการณ์ขึ้นมาว่าเราเกี่ยวข้องกับสิ่งของเหล่านั้น มาถึงตรงนี้เราก็อาจจะสงสัยว่าเราเกี่ยวข้องจริงหรือไม่ บางคน หากไม่ทันได้สั้งสติ ก็อาจจะหลงเชื่อไปว่าอาจจะมีการผิดพลาดทางการขนส่งของผู้ส่งหรือผู้รับ ที่เราอาจเข้าไปเกี่ยวข้องโดยที่เราไม่รู้ตัว และคิดว่าเรื่องที่เรากำลังฟังอยู่เป็นเรื่องจริง ทีนี้เราก็จะสอบถามกลับไปยังคู่สนทนา(แก๊ง) ว่าเราต้องทำอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น คราวนี้ ก็จะนำมาสู่กลโกลขั้นต่อไป
  2. “ลวง” แก๊งจะอุปโลกขึ้นมาว่า เดี๋ยวจะต่อสายไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการแจ้งความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยแจ้งกับเราว่า หากเราไม่ได้ทำจริง เราก็สามารถแจ้งความเป็นหลักฐานกับตำรวจได้ แล้วก็โอนสายไปให้พวกของตนเอง(ที่อาจจะนั่งอยู่ที่เดียวกัน ณ สถานที่ใดที่หนึ่ง) ทำทีเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยแจ้งยศ ชื่อ สกุล ให้เราทราบ เพื่อให้ดูตนเองดูน่าเชื่อถือว่าเป็นตำรวจจริง โดยอาศัยว่าเราคงไม่ได้ทันตั้งตัวเพื่อจะตรวจสอบชื่อนั้นว่ามีจริงหรือไม่ และหากจะตรวจสอบจริง เราก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากเราไม่มีฐานข้อมูลรายชื่อตำรวจทั่วประเทศ และเราก็อาจจะมีเวลาไม่เพียงพอที่จะตรวจสอบชื่อนั้น เมื่อแจ้งชื่อแล้ว แก๊งพวกนี้ จะแจ้งแบบเดียวกับคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ให้บริาการขนส่ง และแจ้งเราว่าต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ไม่เพียงแต่การคุยโทรศัพท์เท่านั้น บางแก๊ง ขอไอดีไลน์ของเรา แล้วทำเนียนแอดไลน์มาหาเรา รูปโปรไฟล์ก็ทำเนียนให้เป็นรูปตราสถานีตำรวจหรือตราโล่ตำรวจ พร้อมวิดีโอคอลให้เราเห็นเลยก็มี โดยใช้คลิปวิดิโอตำรวจจริงๆใส่หน้ากากอนามัยแล้วใส่เสียงลิปซิ้ง ทำให้เหมือนว่ามีตำรวจจริงๆกำลังวิดีโอคอลพูดกับเราอยู่ เมื่อสร้างความน่าเชื่อถือ(ในระดับหนึ่ง)ได้แล้ว หากเราตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป (ในขั้นตอนนี้บางครั้งแก๊งก็อาจจอุปโลกตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องก็มี ตามแต่เรื่องราวที่แก๊งนี้จะสร้างขึ้นมา)
  3. “หลง” แก๊งพวกนี้รู้ดีว่า เมื่อสนทนามาถึงจดุนี้แล้วเรายังไม่รู้ตัว นั่นแสดงว่าเราเริ่มหลงเชื่อกลโกลของมันแล้ว เมื่อเราหลงเชื่อแล้ว แก๊งก็จะแจ้งให้เราชำระเงินค่าปรับ แจ้งว่าเพื่อจบเรื่อง ไม่ต้องดำเนินคดี ไม่ต้องติดคุก โดยรูปแบบการคุยก็จะแตกต่างกันไปตามแต่เรื่องราวและสถานการณ์ที่แต่งขึ้น
  4. “โอน” มาถึงขั้นนี้ เราก็คงจะกลัว ไม่อยากติดคุก ไม่อยากมีเรื่อง ไม่อยากเสียเวลาไปสถานีตำรวจ แก๊งจะให้เราโอนเงินเข้าไปยังบัญชีปลายทางของแก๊ง อ้างว่าเป็นบัญชีที่รับชำระเงินค่าปรับของสถานีตำรวจ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ไม่สะดวกเดินทาง ซึ่งบัญชีนั้นก็เป็นบัญชีที่รับจ้างเปิด ติดตามเส้นทางการเงินได้ลำบากมากขึ้นไปอีก เมื่อเราโอนเงินไปได้สักพัก เราก็จะมานั่งทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และนั่นก็คือตอนที่เรารู้ว่าเราถูกหลอกแล้วนั่นเอง

บก.ปอท. ขอแนะนำว่าหากมีเบอร์แปลกโทรเข้ามาแจ้งว่า “ท่านมีพัสดุตกค้าง” “ท่านมีพัสดุถูกตีกลับ” ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ท่านกำลังจะถูกแก๊งพวกนี้หลอกให้โอนเงิน ให้ท่านตั้งสติและพึงระลึกเอาไว้ว่า “อาจจะ” มีพัสดุตกค้างเกิดขึ้นในความเป็นจริง “แต่” การให้โอนเงินค่าปรับเป็นจำนวนหลักพัน หรือหลักหมื่น เพียงแค่การคุยโทรศัพท์โดยปลายสายอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่นั้น ดูไม่น่าจะสมเหตุสมผล หากท่านจะต้องควักเงินออกจากกระเป๋าท่านไป ขอให้ท่าน “มั่นใจ” หรือ “แน่ใจ” ว่าท่านได้ตรวจสอบเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยละเอียดเสียก่อน

หนึ่งในกลวิธีที่จะหยุดยั้งคนพวกนี้ก็คือ

1.ให้ท่านขอเบอร์ติดต่อกลับกับคนพวกนี้
2.ให้ท่านหาเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานราชการที่คนพวกนี้อ้างถึง แล้วนำชื่อที่คนพวกนี้อ้างถึง ไปสอบถามกับหน่วยงานราชการดังกล่าวว่ามีคนชื่อนี้ตามที่อ้างหรือไม่
3.เพียงแค่ขั้นตอนแรก เราก็เชื่อว่าแก๊งพวกนี้ ก็อาจจะวางสายใส่ท่าน เพราะเริ่มไหวตัวแล้วว่า เราเริ่มรู้ทัน

ขอเพียงท่าน “มีสติ” และ “ไม่ยอมเสียเงินง่ายๆ” เพียงเท่านี้ ท่านก็ห่างไกลจากแก๊งพวกนี้ได้

เพราะเราเชื่อว่า “การป้องกันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการระงับความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้น” เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้”