วันที่ 28 ธ.ค. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ โฆษก บก.ปอท. เปิดเผยว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปอท., พ.ต.อ.ประดิษฐ์ เปการี รอง ผบก.ปอท. และ พ.ต.อ.พิเชษฐ์ คำภีรานนท์ ผกก.3 บก.ปอท. ได้สั่งการให้
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.กมล ทวีศรี รอง ผกก.3 บก.ปอท., พ.ต.ต.กิตติพงศ์ อมฤตโอฬาร สว.กก.3 บก.ปอท., ร.ต.อ.หญิงศรุตา ขันธรูจี รอง สว.กก.3 บก.ปอท., ร.ต.อ.ลัทธพล อัครปัญญา รอง สว.(สอบสวน)ฯ กก.3 บก.ปอท.,ด.ต.เสริมศักดิ์ บัวขาว, ส.ต.อ.ณัฐพงศ์ คงจันทร์ และ ส.ต.อ.ภานุวัฒน์ ขันคำ ผบ.หมู่ กก.3 บก.ปอท.
ร่วมกันจับกุม น.ส.สุญาณี วงศ์สุภา อายุ 48 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญามีนบุรีที่ 402/2563 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดฐานฉ้อโกง
พร้อมตรวจยึดของกลาง 1. โทรศัพท์มือถือ จำนวน 2 เครื่อง, 2. สมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 13 บัญชี และ 3. บัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 9 ใบ
สถานที่จับกุม อาคารชุดบ้านพระยาภิรมย์-รัชดา 2 ซ.เสือใหญ่อุทิศ ถ.รัชดาภิเษก แขวงลาดพร้าว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 เวลาประมาณ 13:00 น.
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2564 ผู้ต้องหาได้ประกาศขายหน้ากากอนามัยผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าวมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยตามท้องตลาดได้ จึงมีผู้เสียหายหลงเชื่อสั่งซื้อหน้ากากอนามัยกับผู้ต้องหา ต่อมาเมื่อถึงกำหนดส่งมอบสินค้า ปรากฏว่าผู้เสียหายไม่สามารถติดต่อกับผู้ต้องหาได้ ทำให้ได้รับความเสียหายจึงมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนทราบที่อยู่ของผู้ต้องหา จึงได้ดำเนินการเข้าจับกุมผู้ต้องหา พร้อมตรวจยึดของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิดนำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย
จากการตรวจสอบทราบว่าผู้ต้องหายังมีหมายจับคดี ฉ้อโกง ในพื้นที่สถานีตำรวจอื่น ๆ อีก 5 คดี ทั้งข้อหาฉ้อโกง และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งตัวผู้ต้องหามีบัญชีเฟซบุ๊กกว่า 10 บัญชี ที่มีไว้เพื่อใช้หลอกลวงผู้อื่น โดยมีวิธีการโกงสารพัดรูปแบบ ทั้ง หลอกเป็นแม่ค้าขายทุเรียน, หลอกขายเครื่องแกง, หลอกขายหน้ากากอนามัย, หลอกให้เล่นแชร์ผ่านกลุ่มเฟซบุ๊ก, หลอกรับจ้างจัดหาพนักงานทำความสะอาด, หลอกจัดส่งพี่เลี้ยงดูแลผู้สูงอายุ, หลอกรับซื้อผักหน้าสวนโดยรับประกันราคาขายในตลาด, หลอกรับจัดส่งผักออแกนิค และหลอกขายพืชผลทางการเกษตรต่าง ๆ เมื่อผู้เสียหายโอนเงินมาให้ผู้ต้องหาก็จะตัดการติดต่อ ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถติดต่อได้ โดยในแต่ละครั้งจะหลอกเอาเงินผู้เสียหายจำนวนประมาณ 200 – 10,000 บาท เพราะคิดว่าถ้าเงินจำนวนไม่มาก ผู้เสียหายคงไม่เสียเวลาไปแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งผู้ต้องหาได้ฉ้อโกงมาแล้วกว่า 50 ราย รวมความเสียหายกว่า 300,000 บาท
สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ในชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
เตือนภัยพี่น้องประชาชน โดยกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ภัยบนโลกออนไลน์ ยังคงเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมักจะอาศัยการล่อลวงโดยการขายสินค้าราคาถูก สินค้าที่ขาดตลาด ตลอดจนการลงทุนที่ได้กำไรเป็นจำนวนมากกว่าปกติ และแม้จะมีความเสียหายต่อบุคคลไม่มากนัก แต่หากนับรวมกับจำนวนผู้เสียหายแล้ว ถือได้ว่าอาชญากรรมในรูปแบบดังกล่าว ยังคงเป็นอาชญากรรมที่สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมากที่สุด ดังนั้นการเลือกซื้อสินค้าผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ จำเป็นจะต้องใช้ความระมัดระวัง และต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขายก่อนทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนร้ายที่คอยหลอกหากินกับพี่น้องประชาชน