แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เบอร์ 060 อ้างเป็นขนส่ง DSL และ ตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ หลอกโอนเงินในธนาคารไปตรวจสอบสูญร่วมแสน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 ธ.ค. ที่ ศูนย์บริการประชาชน บก.ปอท. น.ส.ลูกหยี่ (นามสมมุติ) อายุ 30 ปี พนักงานขายบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. ระบุว่าวานนี้(16 ธ.ค.)ช่วงบ่าย ขณะทำงานอยู่ในออฟฟิศ ได้รับโทรศัพท์หมายเลข 0600036029 และอีกเบอร์ที่อ้างว่าเป็น สภ.เมืองเชียงใหม่ ก่อนหลอกให้โอนเงินในบัญชีธนาคารและบัตรเครดิตทั้งหมดไปให้ตรวจสอบอ้างว่าพัวพันกับการฟอกเงิน


น.ส.ลูกหยี่ เปิดเผยสื่อมวลชน ว่าตนเองโดนหลอกเหมือนรายอื่นๆ ที่แชร์วิธีการคนร้ายในอินเตอร์เน็ต คือคนร้ายโทรศัพท์มาหาแจ้งว่าโทรมาจาก DSL(บริการส่งของไปต่างประเทศ) พัสดุสิ่งของที่ตนส่งไปถูกตีกลับ ขอให้ตนติดต่ออีกหมายเลขหนึ่ง

เมื่อเราโทร.ไปหมายเลขที่บอกมา ปลายสายบอกว่าเป็น DSL สาขาจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งว่าของที่เราส่งไปต่างประเทศ ถูกตีกลับ ตนไม่สงสัยเพราะบริษัทที่ทำงานอยู่ก็ส่งของไปประเทศญี่ปุ่นประจำอยู่แล้ว

เมื่อสอบถามว่าพัสดุที่ถูกตีกลับมาเป็นอะไร เขาแจ้งว่า เป็นพัสดุที่จัดส่งเมื่อวันที่ 26 พ.ย.64 เวลา 11.46 น. ผู้รับชื่อ ซูซาน แซ่หลิว เบอร์โทรผู้รับ +193 1273 7889 ที่อยู่ 99/021 เทียนจิน กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

โดยปลายสายแจ้งว่าภายในกล่องพัสดุมีหนังสือเดินทาง พาสปอร์ต 10 เล่ม บัตรเอทีเอ็ม 15 ใบ เสื้อผ้า 5 ชุด โดยพลาสปอร์ตถูกซ่อนไว้ในเสื้อผ้า ตนยืนยันว่าไม่ได้ส่งพัสดุนี้แน่นอน ปลายสายบอกว่า อาจจะมีคนแอบอ้างใช้ชื่อเราส่งแทน ก่อนจะถามว่าตนจะแจ้งความหรือไม่ ขอให้ตนติดต่อ สภ.เมืองเชียงใหม่ เราก็บอกกลับไปว่าตนอยู่ กทม. ปลายสายบอกจะประสานให้ สภ.เมืองเชียงใหม่ติดต่อเราได้ ก่อนบอกชื่อเขามา พร้อมหมายเลขอ้างอิง ก่อนจะโอนสายให้ สภ.เมืองเชียงใหม่ ปลายสายที่รับอ้างเป็นตำรวจรับสายก่อนแนะนำให้แอดไลน์ เพื่อจะบันทึกการสนทนา โดยระบุว่าเรื่องนี้เราจะต้องคุยกันแค่สองคน ถ้าคนอื่นได้ยินมันจะมีผลทางกฎหมายได้
เมื่อตนแอดไลน์ตามที่บอกก็ขึ้นว่าเป็น สภ.เมืองเชียงใหม่ (เซฟตี้โซน)

ปลายสายบอกชื่อ -ยศ อ้างเป็นผู้กองอยู่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ขอตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวเราก่อน จากนั้นก็มีเสียงพูดเสียงวิทยุสื่อสารคุยกับอีกคนอ้างเป็นสารวัตร ขอตรวจสอบเลขประจำตัวประชาชนเรา แจ้งว่าถ้าไม่บอกก็ขอส่งเรื่องของตนให้สารวัตรดำเนินการแทน

คนที่อ้างตัวเป็นผู้กองพูดต่อแบบอารมณ์เสียไม่พอใจ บอกมาว่าเราจะต้องโทษคดีฟอกเงิน จะต้องยอมให้ตำรวจตรวจสอบเงินในบัญชีทั้งหมดที่มี แจ้งมาว่ามีบัญชีอะไรบ้าง เหลือเงินในบัญชีเท่าไร ขอให้บอกเลขบัญชีมาเฉพาะเลขท้าย 4 ตัว แต่ต้องบอกว่ามียอดเงินเหลืออยู่เท่าไร แถมข่มขู่ว่าเราเข้าไปพัวพันคดีใหญ่มาก ถ้าไม่ยินยอมเปิดเผยจะต้องตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัย ชื่อเราอาจจะมีปัญหา เดินทางไปไหนไม่ได้ ดังนั้นจะต้องให้ความร่วมมือดีๆ ซึ่งตอบพูดคุยโทศัพท์นั้นตนอยู่ในช่วงมึนๆ กำลังคิดเรื่องงานที่มีปัญหา กำลังตัดสินใจว่าจะออกจากงานอยู่พอดี จะเดินทางไปต่างประเทศได้ไม่ติดแบล็คลิสต์ อยากจะจบๆ เรื่องพัสดุที่ตีกลับคืนเร็วๆ เลยไม่ทันระวังตัว ถามกลับไปต้องการอะไร จะให้ทำอย่างไรเรื่องนี้จะได้จบไป ก่อนจะบอกเลขบัญชีธนาคารพร้อมยอดเงินในบัญชีทั้งหมด รวมทั้งบัตรเครดิต

ต่อมา คนเป็นสารวัตรปลอบใจเราพร้อมแนะนำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับชาตินะอย่าไปเปิดเผยบอกให้ใครรู้มิฉะนั้นอาจจะพัวพันคดีไปด้วย เขาโทรมาถูกจังหวะเวลาพอดี ตนรู้สึกกลัวตามที่เขาบอกจริงๆ ในออฟฟิศมีตนอยู่เพียงคนเดียว เจ้านายก็ออกไปหาลูกค้า พี่ร่วมงานอีกคนก็ลาหยุด กำลังตกอยู่ในภาวะเคร่งเครียดจะหางานทำใหม่ เขาแนะนำให้โอนเงินแต่ละบัญชี รวมทั้งวงเงินในบัตรเครดิตด้วย เพื่อให้ตำรวจตรวจสอบเมื่อตรวจเช็คเสร็จแล้วจะโอนคืนภายใน 15 นาที บอกด้วยว่าอย่าโอนเป็นหลักร้อย ขอให้โอนด้วยหลักพันขึ้นไป ซึ่งได้โอนไปบัญชีที่เขาให้มาจำนวนหลายครั้ง รวมประมาณ 7.4 หมื่นบาท

ในกรณีดังกล่าว พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนว่า มีกลุ่มคนร้ายมีพฤติการณ์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ บริษัทขนส่งสินค้า โดยแจ้งว่า บัญชีของท่านหรือพัสดุสิ่งของของท่านที่ส่งไปต่างประเทศ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ก่อการร้าย ฯลฯ มีการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีในอัตราโทษสูง จะมีการออกหมายจับ ถ้าไม่อยากถูกดำเนินคดี ต้องโอนเงินมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ มิเช่นนั้น จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งมีพี่น้องประชาชนได้รับโทรศัพท์ในลักษณะดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งที่มิได้มีส่วนกับการกระทำความผิดตามที่มิจฉาชีพกล่าวอ้าง หรือไม่ ถ้าใช่ก็จะออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีมาสอบ ถ้าไม่ใช่ก็จะตรวจสอบกล้องวงจรปิดจุดที่คนร้ายไปถอนเงินออก จะใช้ระยะเวลาในการสอบสวนประมาณ 2-3 เดือน


การแจ้งความพนักงานสอบสวนจะต้องไปแจ้งด้วยตัวเอง ไม่มีการรับแจ้งทางโทรศัพท์
โทรศัพท์ที่คนร้ายใช้โทรมาหาเหยื่อจะใช้ voip (VoIP: Voice over Internet Protocol เป็นเทคโนโลยีสำหรับการสื่อสารทางเสียงผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือโครงข่ายอื่นๆ ที่ใช้อินเตอร์เน็ต)

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเรียนพี่น้องประชาชนว่า ธนาคาร และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องให้เจ้าของบัญชีธนาคารโอนเงินมาให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อทำการตรวจสอบ เพราะหากพบว่าบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายในการยึด อายัดบัญชีธนาคาร โดยจะเป็นผู้ติดต่อกับทางธนาคารโดยตรง จึงขอให้พี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อ และหากมีผู้ใดอ้างว่าต้องให้ท่านโอนเงินเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้เร่งรัดดำเนินการสืบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างเข้มข้นต่อไป และขอประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชนที่ได้รับการติดต่อโดยผู้ที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ พนักงานบริษัทขนส่งพัสดุ โทรศัพท์หาพี่น้องประชาชนและใช้พฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น ขอให้ตั้งสติ อย่าหลงเชื่อ และสามารถตรวจสอบโดยโทรศัพท์สอบถามไปยังหน่วยงานดังกล่าวได้โดยตรง และสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานีตำรวจ และหมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อได้ผ่านแอปพลิเคชัน PolicePhoneBook ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ผ่านช่องทาง https://apps.apple.com/th/app/policephonebook/id1465554530 (iOS/iPadOS) และ https://play.google.com/store/apps/details?id=com.zealtech.policephonebook2019 (Android) หรือสามารถแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง