วันที่ 18 พ.ย.ที่ บช.ทท. พล.ต.ท.สุคุณ พรหมายน ผบช.ทท.,ตามที่รัฐบาล ได้จัดทำโครงการ ” เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ” เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายภาคประชาชน ผ่านการท่องเที่ยวภายในประเทศ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง สนับสนุนการสร้างงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในองค์รวม ปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงแรมและร้านค้า ที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 จำนวน 3,019 ราย โดยรัฐบาล สนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 จำนวน 15,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนในโครงการ 3 รายการคือ ส่วนลดค่าที่พักโรงแรม , ส่วนลดค่าอาหารและค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยว และส่วนลดค่าเดินทางโดยเครื่องบิน โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์และทำรายการใช้สิทธิ์ต่าง ๆ โดยสมัครผ่านแอพเป๋าตัง ใช้สิทธิ์ได้ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๕
ทั้งนี้ ททท. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ได้ตรวจสอบพบพฤติกรรมการทำธุรกรรมที่ผิดปกติใน โครงการ ” เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ” โดย พล.ต.ท.สุคุณ พรหมายน ผบช.ทท. พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ อรัญวัฒน์, พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย, พล.ต.ต อภิชาติ สุริบุญญา รอง ผบช.ทท., ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.รัฐพงศ์ แก้วยอด ผกก.คธม.บช.ทท. สืบสวนตรวจสอบกรณีดังกล่าว ปรากฏพบ มีผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม มีพฤติการณ์ทำธุรกรรมไม่เป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์และส่อไปในทางทุจริต จำนวน 11 โรงแรม และผู้ต้องสงสัย 5 ราย มีพฤติกรรม ใช้นายหน้าหรือตัวแทน ชักชวนประชาชนที่มีแอพเป๋าตังค์ ลงทะเบียนรับสิทธิ์โครงการฯ ทำการจองห้องพักราคาสูง เพื่อรับเงินส่วนต่างที่รัฐบาลสนับสนุน โดยเสนอ ให้ค่าตอบแทนแก่ประชาชนเพียงเล็กน้อย โดยไม่ได้มีการเข้าพักจริง และบางโรงแรมยังไม่เปิดให้บริการ ใช้นายหน้า ชักชวนนำพาประชาชนมาใช้สิทธิ์จองห้องพัก และทำการเช็คอินนอกสถานที่ตั้งของโรงแรม ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว จึงขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนทุกภาคส่วน กรุณาประชาสัมพันธ์ข้อมูล ให้ประชาชนทราบว่าพฤติการณ์ลักษณะดังกล่าวข้างต้น เป็นความผิด และอย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของนายหน้า ที่มาแนะนำหรือชักชวนให้ทำการดังกล่าวโดยได้ค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย และขอแจ้งเตือน ผู้ประกอบการโรงแรม รวมถึงร้านค้า ที่ร่วมโครงการดังกล่าว ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขกฎระเบียบตามโครงการฯ ด้วยความสุจริต ทั้งนี้ หากพบผู้มีพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น ถือว่า มีเจตนา ฝ่าฝืนกฎหมาย จะต้องถูกดำเนินคดีทุกราย ซึ่งเป็นความผิดอาญาที่มีอัตราโทษสูงดังนี้
“ร่วมกันฉ้อโกง” มาตรา ๓๔๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ” มาตรา 342 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” ร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือเบิกถอนเงินสด ” มาตรา ๒๖๙/๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จในประการที่จะก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ” มาตรา 14(2)
ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
“ฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ เป็นความผิดมูลฐาน ฟอกเงิน” มาตรา ๖๐ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ปี ถึง ๑๐ ปี หรือปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ บาท ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากมีข้อเสนอแนะ หรือจะแจ้งเบาะแส ความผิดปกติของโครงการ หรือพฤติกรรมการกระทำความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ การดำเนินธุรกิจด้านการท่องเที่ยว สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่หมายเลข 1155 ได้ตลอด 24 ชม.