ดร.หิมาลัย และภาคีเครือข่าย ร่วมรับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานรพ.สนามท่าเรือคลองเตย

ดร.หิมาลัย ประธานคณะกรรมการอำนวยการรพ.สนามท่าเรือ และภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ-เอกชน ร่วมรับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานในห้วง 2 เดือนที่ผ่านมา ของรพ.สนามท่าเรือคลองเตย

วันนี้(27 ตุลาคม 2564) เวลา 10:30 น. ณ ลานสเตเดียมการท่าเรือแห่งประเทศไทย ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ โรงพยาบาลสนามท่าเรือคลองเตย ได้เดินทางมารับฟังสรุปผลการดำเนินงานศูนย์ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของโรงพยาบาลสนามท่าเรือคลองเตย โดยมี ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวรายงานผลการดำเนินงานในภาพรวม และ คุณกันตพร หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH กล่าวรายงานถึงผลการดำเนินงานด้านการแพทย์ ซึ่งเปิดเผยว่าในห้วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. 64 ที่เริ่มดำเนินการรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษา มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 267 ราย ได้ดำเนินการรักษาและจำหน่ายผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วออกอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้คงเหลือผู้ป่วยที่ยังคงรับการรักษาที่ศูนย์แห่งนี้อยู่ 74 ราย ที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ 5 ราย และผู้ป่วยที่เสียชีวิตในห้อง ICU อีก 5 ราย

 โรงพยาบาลสนามแห่งนี้เกิดขึ้นจาก สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย และสหกรณ์เคหะสถานชุมชนคลองเตย ประธานเครือข่ายชุมชนแออัดคลองเตย กลุ่มคลองเตยดีจัง สภาเขตคลองเตย และ มูลนิธิดวงประทีป ได้เล็งเห็นความเดือดร้อนของชาวชุมชนคลองเตย ที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเตียงในโรงพยาบาลเข้าขั้นวิกฤตไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย จึงได้รวมตัวกันยื่นหนังสือไปยัง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านได้กรุณามอบหมายให้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ประสานให้ คุณศรินทร สนธิศิริกฤตย์ (กรมควบคุมโรค) มาช่วยประสานการดำเนินงาน ทั้งการสร้างรพ.สนามโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย การจัดหาโรงพยาบาลเข้ามาดูแลผู้ป่วย ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ เป็นต้นแบบการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่าง ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตั้งแต่ระดับประเทศ โดยมี กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง การประปาเขตคลองเตย และระดับกระทรวง เช่น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และกรมอนามัย รวมถึงกระทรวงพัฒนาสังคงและความมั่นคงของมนุษย์  จนถึงระดับเขตคือ สำนักงานเขตคลองเตย และระดับชุมชน ทำให้เกิดเป็นภาพความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public Private Partnership)


นอกจากนี้ การดำเนินงานด้านการแพทย์ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก ผู้บริหารโรงพยาบาล 2 แห่งได้แก่ คุณณพ ณรงค์เดช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นวเวช อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลนวเวช อินเตอร์เนชั่นแนล ที่กรุณา มอบให้ รพ. มาดำเนินการในส่วน Community Isolation หรือ ศูนย์พักคอย และ คุณกันตพร หาญพาณิชย์ กรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด เครือบางกอกเชน มอบให้ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รามคำแหง เข้ามารับดำเนินการ โรงพยาบาลสนาม นอกจากความร่วมมือของทั้ง 2 โรงพยาบาลแล้ว  ยังมีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่เตรียมพร้อมรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก(สีแดง) พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำและสนับสนุนชุดตรวจ ATK

 ทั้งนี้การดำเนินการรักษาพยาบาลนี้ บรรจุผลโดยการมีส่วนร่วมในภาคเอกชน ได้แก่ มูลนิธิมาดามแป้งบริษัท,  เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)ม มูลนิธิสยามโชลเวย์ มูลนิธิบุญยะจินดา, บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ,บริษัท UCI GROUP,บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท รักษาความปลอดภัย จีจีไอ กรุ๊ป จำกัด,บริษัท ไอ.ชี.ชี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)Evergreen Line , กลุ่มจุดเล็กๆ Body&Mind by Parn ,คุณปองกูล สืบซึ้ง  ,คุณปรัชญนันท์ แจงวาณิชย์ บริษัท DLT , ดร.บุญชัย โต๊ะสุวรรณวณิช บริษัท AIA

ส่วนภาคประชาชน ได้แก่กลุ่มประชาชนชาวคลองเตย และมูลนิธิดวงประทีป ที่กรุณาเป็นผู้อำนวยการในเรื่องของการบริการขั้นพื้นฐานโดยทั่วไป ทีมวิศวะอาสา ช่วยออกแบบโครงสร้างศูนย์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆภายในศูนย์ฯ คุณสุชัย พงษ์เพียรชอบ ที่ปรึกษารู้ว่าราชการกรุงทพมหานคร สส.กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา และมูลนิธิดวงประทีป ช่วยจัดรถพยาบาลประจำศูนย์ฯ รวม 4 คัน เพื่อรับ-ส่งผู้ติดเชื้อ

นอกจากนี้ยังมีการประสานกับ กลุ่มของ สส.กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา กลุ่มกระต่ายคลองเตย กลุ่มคลองเตยดีจัง และ กลุ่มอาสาไทยสร้งไทย ในการตรวจเชิงรุกในชุมชนแออัดและนอกชุมชน ทั้งในเขตคลองเตยและเขตใกล้เคียง และกลุ่มบัณฑิตอาสา ในการตรวจเชิงรุกกับกลุ่มคนงานในแค้มป์แรงงานเล็กๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อรับผู้ติดเชื้อ ที่ประสงค์จะเข้ารับการรักษา มีการจัดบริการรถรับ – ส่งผู้ติดเชื้อ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 ศูนย์ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ โรงพยาบาลสนามท่าเรือคลองเตย แห่งนี้ มีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยถึง 300 เตียง และมีจุดเด่นแตกต่างจากโรงพยาบาลสนามที่อื่น เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลสนามที่ดำเนินการโดยหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน ที่นี่จึงสามารถช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่อาจจะไม่สามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อต่างชาติ ทั้งที่มีบัตรประชาชน มีพาสปอร์ต หรือไม่มีผู้ป่วยที่มารักษาที่ รพ.สนามคลองเตย จะได้รับการดูแลจากทีมแพทย์ พยาบาล พร้อมทั้งบริการอาหาร 3 มื้อ เครื่องดื่ม ขนม ภายในเต็นท์ ฟรี ตลอด 24 ชม. รวมถึงการจัดหาเสื้อผ้าแก่ผู้ติดเชื้อในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีเสื้อผ้ามาไม่พอใช้ 14 วัน และเครื่องใช้ส่วนตัวที่จำเป็น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ของเล่นเด็กตามวัย

 เมื่อผู้ติดเชื้อรักษาหายแล้ว จะได้รับถุงยังชีพจากผู้บริจาคและเงินสงเคราะห์จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มอบให้ครอบครัวละ 2,000 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ติดเชื้อและครอบครัว

 ดร.หิมาลัย กล่าวว่ารู้สึกมีความสุขที่ได้ทำงานนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่ประเทศกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤต อีกทั้งอยากชมเชยมูลนิธิดวงประทีป และชุมชนคลองเตย ที่รวมตัวกันเรียกร้องกับทางภาครัฐ ถือว่า เป็นความร่วมมือร่วมใจของชาวชุมชนคลองเตย และชุมชนคลองเตยก็ถือเป็นจุดที่ล่อแหลมอ่อนไหวในเรื่องการเมือง แต่ทุกกลุ่มการเมืองก็ได้ร่วมเข้ามาช่วยกัน จนสำเร็จได้เนื่องจากทุกกลุ่มการเมืองทุกพรรคในพื้นที่ ทุกคนพร้อมที่จะสละทุกอย่างเข้ามาช่วยเหลือผู้เดือดร้อน จนรพ.แห่งนี้กลายเป็นโมเดลต้นแบบให้กับรพ.สนามอื่นๆได้ นอกจากนี้ ดร.หิมาลัย เปิดเผยว่า จุดเด่นของรพ.สนามแห่งนี้ คือผู้ติดเชื้อจะได้รับการรักษาทันที แล้วจะมีทีมงานมาตรวจสอบสิทธิ์ให้ผู้ป่วยภายหลัง และหากเป็นผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องส่งตัวไปยังรพ.เกษมราษฎร์ ทางโรงพยาบาลฯก็จะรับรักษาทันที โดยที่ไม่รู้ว่าจะเบิกจากภาครัฐได้หรือไม่ ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีสิทธิ์รักษาทางมูลนิธิดวงประทีปเผยในช่วงก่อตั้งว่าจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบค่ารักษาในส่วนนี้ แต่ท้ายที่สุดรพ.เกษมราษฎร์ ได้ขอเป็นหน่วยงานรับผิดชอบค่ารักษาทั้งหมดแทน ซึ่งล่าสุดโรงพยาบาลสนามท่าเรือคลองเตย ได้ยุบเต้นท์รักษาไป 1 เต้นท์ ซึ่งมี 120 เตียง เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนน้อยลง และการรักษาก็มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น