สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยมิจฉาชีพหลอกชักชวนให้ลงทุนแชร์ลูกโซ่ ออมเงินและปล่อยเงินกู้ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สร้างความเสียหาย

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยกรณีที่มีเหล่ามิจฉาชีพหลอกชักชวนให้ลงทุนบนโลกออนไลน์ ในลักษณะตั้งวงแชร์ออนไลน์ กลุ่มออมเงิน และลงทุนปล่อยเงินกู้


เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำกิจกรรมหรือธุรกรรมต่างๆ โดยหันมาทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์หรือแอพพลิเคชั่นมากขึ้น ผนวกกับการที่ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้นและมีการหารายได้เสริมกันมากขึ้น จึงมีเหล่ามิจฉาชีพอาศัยช่องว่างดังกล่าวในการกระทำความผิด ด้วยการโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆ หรือการชักชวน ทั้งทางสื่อสังคมออนไลน์และการบอกกันปากต่อปากให้มาร่วมลงทุนแชร์ลูกโซ่ ซึ่งมักจะมีข้อเสนอในลักษณะที่ให้ผลตอบแทนสูง ง่าย ไม่ซับซ้อน ยิ่งโอนลงทุนมากยิ่งได้เงินมาก และมุ่งเน้นไปที่การชักชวนให้คนอื่นมาลงทุนต่อ โดยจะมีข้อเสนอพิเศษให้ สำหรับผู้ที่ชวนคนอื่นมาลงทุนเพิ่มได้ ก็จะได้เงินตอบแทน ทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก

ดังเช่นกรณีปรากฎบนสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าควบคุมตัวท้าวแชร์ลูกโซ่หญิง วัย 20 ปี ตามหมายจับ หลังถูกแจ้งความดำเนินคดีว่ามีพฤติกรรตั้งวงแชร์ลูกโซ่ จัดตั้งกลุ่มออมเงิน และปล่อยเงินกู้ โดยเสนอผลตอบแทนสูง โดยผู้ต้องหาได้เปิดกลุ่มไลน์และเฟซบุ๊ค พร้อมมีข้อความชักชวนว่า “โอนไวจ่ายจริง” จนมีผู้หลงเชื่อเข้ามาร่วมลงทุนจำนวนมาก มีวงเงินตั้งแต่ 200-1,000,000 บาท มีผู้ร่วมลงทุนทั่วประเทศมากกว่า 1,400 คน รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชนและตระหนักถึงพิษภัยจากการหลอกลวงของมิจฉาชีพในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรการและดำเนินการป้องกันปราบปรามตามขั้นตอนของกฎหมาย และเน้นย้ำว่าจะต้องดำเนินการเอาผิดและกวาดล้างกลุ่มมิจฉาชีพอย่างเด็ดขาด

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โดยสั่งการไปยังทุกหน่วยงานในสังกัด ให้ทำการสืบสวนสอบสวนปราบปรามจับกุมกลุ่มมิจฉาชีพ เร่งทำการจับกุมบุคคลตามหมายจับ รวมถึงขยายผลไปถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างจริงจังต่อเนื่อง และให้สถานีตำรวจทั่วประเทศอำนวยความสะดวกในการรับแจ้งความจากประชาชน เพื่อให้มีผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

การกระทำลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ยังเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้า สู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในท้องที่ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงเตรียมหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานการโอนเงิน บันทึกการสนทนา รายการเดินบัญชีธนาคาร เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดี

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน ถึงแนวทางการหลีกเลี่ยงป้องกันการถูกหลอกให้ลงทุนโดย
1.ขอให้ตรวจสอบให้ดี ว่าการลงทุนดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือเพียงใด และผู้ที่ชักชวนมีตัวตนจริงๆ ตรวจสอบได้ มีประวัติการกระทำความผิดมาหรือไม่ จากแหล่งข้อมูลเปิดต่างๆ รวมถึงข่าวหรือโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ที่เคยมีประสบการณ์ถูกหลอกลวงมาก่อน และข้อมูลประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
2.ขอให้ผู้ที่เคยมีประสบการณ์ถูกหลอกลวง แบ่งปันประสบการณ์ผ่านทางสื่อหรือช่องทางต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการหาข้อมูลสามารถสืบค้นได้ในระบบ รวมถึงเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และเตือนภัยให้กับสังคมต่อไป
3.หลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้หรือมีเงื่อนไขในลักษณะ ง่าย ไม่ซับซ้อน และมีผลตอบแทนสูงผิดปกติ
4.พึงระลึกไว้เสมอว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ”
5.ขอให้คอยติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อจะได้รู้ทันกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพ

นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง