ตร.ชี้แจง กรณีหมอปลาถูกแจ้งความร้องทุกข์ในคดีหมิ่นประมาท

วันที่ 25 ก.ย.2564 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ประชาชนให้ความสนใจและมีบางส่วนอาจเกิดความไม่สบายใจในเรื่องที่หมอปลา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครแจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ เหตุเกิดที่ สภ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด นั้น


สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเรียนว่าในเรื่องนี้ต้องแยกเป็น 3 กรณี คือ
กรณีแรก เป็นกรณีที่ หมอปลาแจ้งข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้เกี่ยวข้องอาจได้รับผลประโยชน์จากการส่งผู้ติดยาเสพติดไปเข้ารับการบำบัดที่ศูนย์สงเคราะห์บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด วัดท่าพุราษฎร์บำรุง จ.กาญจนบุรี ซึ่งในเรื่องนี้ ทั้ง ภ.จว.ร้อยเอ็ด และ ภ.จว.กาฬสินธุ์ มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว หากพบว่ามีข้าราชการตำรวจหรือบุคคลใดกระทำความผิดจะมีการดำเนินการทั้งทางคดีอาญาและทางวินัยอย่างเด็ดขาดต่อไป


กรณีที่ 2 เป็นกรณีที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่อาสาสมัครของ สภ.สุวรรณภูมิ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับหมอปลา ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ เนื่องจากมีการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเหตุให้ตำรวจและอาสาสมัครดังกล่าวได้รับความเสียหายถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว มิใช่เรื่องที่หน่วยงานแจ้งความดำเนินคดีแต่อย่างใด โดยคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน


กรณีที่ 3 เป็นกรณีที่ หมอปลาพร้อมทนายความและผู้เข้ารับการบำบัดที่ศูนย์สงเคราะห์บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด วัดท่าพุราษฎร์บำรุง จ.กาญจนบุรี จำนวนหนึ่งเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับศูนย์ฯดังกล่าวในความผิดฐานค้ามนุษย์และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อแสวงหาพยานหลักฐาน เพื่อส่งให้กับพนักงานสอบสวนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป


ซึ่งในทั้ง 3 กรณี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันจะดำเนินการตามหลักนิติธรรมและจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมาและตรวจสอบได้ ส่วนกรณีที่ประชาชนมีข้อมูลที่อาจสงสัยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือมีความประสงค์ให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องต่างๆ นั้นสามารถทำได้โดยสามารถแจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจได้หลายช่องทางอยู่แล้ว แต่ขอให้ระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นที่ทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเสียหายอาจใช้สิทธิตามกฎหมายในการดำเนินคดีกับบุคคลที่ทำให้ตนได้รับความเสียหายได้