พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติและโฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) เตือนภัยกรณีที่มีเหล่ามิจฉาชีพหลอกชักชวนให้ลงทุนในลักษณะการออมเงินผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ว่า
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พี่น้องประชาชนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำกิจกรรมหรือธุรกรรมต่างๆ โดยหันมาทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์หรือแอพพลิเคชั่นมากขึ้น แต่ก็มีเหล่ามิจฉาชีพได้อาศัยช่องว่างดังกล่าวในการหาผลประโยชน์โดยทุจริต ด้วยการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะชักชวนให้มาออมเงินหรือลงทุน ซึ่งมักจะมีข้อเสนอในลักษณะที่ให้ผลตอบแทนสูง ง่าย ไม่ซับซ้อน เพียงโอนเงินเข้ามา ก็จะสามารถถอนเงินกลับไปในจำนวนที่มากขึ้นได้เลย ยิ่งโอนมามากยิ่งได้เงินมาก ทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อ ดังเช่นในกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 64 ได้มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.ละแม จ.ชุมพร ว่าตนได้ฝากโทรศัพท์มือถือไว้กับลูก และลูกได้พบเห็นโฆษณาชักชวนลงทุนด้วยการฝากเงิน ซึ่งให้ผลตอบแทนสูง ลูกจึงหลงเชื่อและโอนเงินไปเป็นจำนวนกว่า 300,000 บาท แต่ปรากฏว่าไม่สามารถถอนเงินกลับมาได้ ทางผู้เสียหายเมื่อทราบเรื่องจึงพาลูกเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็มีรูปแบบการกระทำผิดคล้ายกับการฉ้อโกงออนไลน์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เพียงแต่มีการเปลี่ยนรูปแบบกลอุบายในการหลอกลวงให้เป็นไปตามเหตุการณ์ปัจจุบัน
การกระทำลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเป็นการตอกย้ำพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนกันอยู่แล้วและยังเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในท้องที่ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงเตรียมหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานการโอนเงิน บันทึกการสนทนา รายการเดินบัญชีธนาคาร เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดี
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติและโฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน ถึงแนวทางการหลีกเลี่ยงป้องกันการถูกหลอกให้ลงทุนขอให้พี่น้องประชาชนตรวจสอบให้ดี ว่าการลงทุนดังกล่าวนั้นน่าเชื่อถือเพียงใด หลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้หรือมีเงื่อนไขในลักษณะที่ได้ผลตอบแทนสูง ง่าย ไม่ซับซ้อน พึงระลึกไว้เสมอว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ” รวมถึงคอยดูแลบุตรหลานอย่าให้ใช้โทรศัพท์มือถือหรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพียงลำพัง โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการเงิน ขอให้พี่น้องประชาชนคอยติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อจะได้รู้ทันกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพ นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง