วันที่ 4 ส.ค. 64 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ตรวจพบข่าวปลอมอีก 2 กรณี คือ
1.วัคซีนไฟเซอร์ส่วนหนึ่งถูกส่งไป จ.บุรีรัมย์ ทั้งที่ไม่ใช่พื้นที่ระบาดหนัก ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ เนื่องจากขณะนี้วัคซีนไฟเซอร์ยังอยู่ในขั้นตอนของบริษัทจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะเริ่มส่งได้ในวันที่ 5 ส.ค. 64 อีกทั้งก็อยู่ในระหว่างการจัดสรรให้ 5 กลุ่มเป้าหมายตามมติที่ประชุม ซึ่งในนั้นไม่มีจ.บุรีรัมย์
2.ปตท. นำน้ำมันไม่มีคุณภาพมาจาก 3 กองทัพ ที่ตุนไว้ระยะเวลา 5-6 ปี หมดสภาพมาให้ตามปั๊มต่างๆ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ เนื่องจากบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ ไม่ได้มีการจัดหาน้ำมันจากหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานอื่นใดนอกเหนือจากโรงกลั่นชั้นนำในประเทศ เพื่อมาจำหน่ายให้ผู้บริโภค และ โออาร์ ให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพน้ำมันอย่างเข้มงวดตลอดทุกขั้นตอน ไม่มีการนำน้ำมันที่ไม่มีคุณภาพมาเพื่อจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน 5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter ,ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ