เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้ทวีความรุนแรงจนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอัตราที่สูงขึ้น และเชื้อโรคได้กลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์สามารถแพร่กระจายได้ง่าย ซึ่งรัฐบาลได้ยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ให้คลี่คลายโดยเร็ว
โดยนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการ Work From Home ทำให้ประชาชนต้องอยู่บ้าน และทำกิจกรรมต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์มากยิ่งขึ้น หากแต่ยังพบ มีการส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่ถูกบิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นจำนวนมากบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งสร้างความเข้าใจผิด ทำให้เกิดความสับสน ตื่นตระหนก เกิดความขัดแย้งในสังคมและอาจส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน จากข้อมูลที่ถูกบิดเบือนดังกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีความห่วงใยในเรื่องสถานการณ์การสร้างข่าวปลอมและผลกระทบที่เกิดขึ้นในทุกมิติ จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขับเคลื่อนนโยบาย โดยมอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เฝ้าระวังและตรวจสอบ ข่าวปลอมหรือข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องโดยประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) หน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างใกล้ชิด รวมถึงดำเนินการสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีอย่างจริงจังต่อเนื่อง
ในห้วงเดือนมิถุนายน 2564 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้รับข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลฯ และเบาะแสจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการพิสูจน์ทราบ พบผู้ที่เกี่ยวข้องกับสร้างข่าวปลอมและอยู่ในข่ายที่ต้องดำเนินคดีกว่า 50 คดี ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนกว่า 30 คดี รวมถึงเรื่องการบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนและกระบวนการทางสาธารณสุข ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และจะมีการพิสูจน์ทราบตัวผู้กระทำผิดในกรณีอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดต่อไป
สำหรับ ข้อกำหนด ซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ข้อ 11 “มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือมี เจตนาบิดเบือนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9(3) แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548” มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (12 ก.ค.2564)
รวมทั้ง ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ในความผิดฐาน “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และฝากเตือนไปยังผู้ที่กระทำความผิด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมจิตใจของพี่น้องประชาชนที่ควรจะได้รับข่าวสารที่ถูกต้องและยังทำให้เกิดความสับสนตื่นตระหนกในสังคม รวมถึงส่งผลกระทบต่อความสงบในบ้านเมืองอีกด้วย
นอกจากนี้ ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเข้ามาและขอเรียนประชาสัมพันธ์ ไปยังพี่น้องประชาชนให้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร และขอให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทางที่สร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับทั้งตนเองและสังคม หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1441 ได้ในวัน เวลาราชการ และหมายเลขโทรศัพท์ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง