พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. กล่าวว่า วันนี้ได้ออกมาตรวจความพร้อมในการปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ ในการล็อคดาวน์ ปิดแคมป์ก่อสร้าง ๓๐ วัน เพื่อเข้าควบคุมและชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-๑๙ โดยให้ตั้งจุดตรวจ, จุดสกัด, และด่านตรวจ เพื่อควบคุมการเดินทาง และการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัดอย่างเข้มงวด ซึ่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร, สำนักงานเขต, กรมควบคุมโรค, หน่วยทหารในพื้นที่หรือที่ได้รับมอบหมาย และอาสาสมัคร ฯลฯ โดยได้ตั้งจุดตรวจโควิด ในเส้นทางเข้าออกหลักของกรุงเทพมหานครในทุกด้าน จำนวน ๖ จุดตรวจ ดังนี้
๑.ถนนวิภาวดี-รังสิต หน้าสถานีรถไฟดอนเมือง
๒.ถนนสุวินทวงศ์ ใต้ทางด่วนข้ามแยกมหานคร
๓.ถนนบางนา-ตราด หน้าปั๊มน้ำมันบางจาก กม. ๔.๕
๔.ถนนบรมราชชนนี ใต้สะพานข้ามแยก ถนนพุทธมณฑลสาย ๓
๕.ถนนเพชรเกษม หน้าสำนักงานเขตหนองแขม
๖.ถนนพระรามที่ ๒ หน้าปั๊มน้ำมัน ปตท.บางขุนเทียน
พล.ต.ต.ปิยะฯ กล่าวว่า จุดตรวจโควิดทั้ง ๖ จุดตรวจ จะเป็นปฏิบัติการร่วม ทั้งตำรวจ, ฝ่ายปกครอง, ทหารและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อมุ่งเน้นการห้ามการเดินทาง หรือเคลื่อนย้ายแรงงานจากกลุ่มคลัสเตอร์แรงงานก่อสร้างหรือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยให้จำกัดการเดินทางให้น้อยที่สุดเพื่อระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยเฉพาะการเดินทางข้ามจังหวัด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดต้นทางและปลายทางเท่านั้น โดย จุดตรวจโควิดทั้ง ๖ จุด ประกอบด้วย ตำรวจ ๔ นาย, ทหาร ๔ นาย และเจ้าหน้าที่ กทม. ๔ นาย รวมเป็น ๑๒ นาย และจะปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันตลอด ๒๔ ชั่วโมงตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
กรณีมีการเดินทางหรือการเคลื่อนย้าย แรงงานก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจจะทำการตรวจสอบว่าเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากเป็นแรงงานหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จะทำการจับกุมนำตัวส่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป หากเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายจะทำการตรวจสอบว่าได้รับอนุญาตจากผู้ว่ากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดปลายทางหรือไม่ อย่างไร เพื่อควบคุมและจำกัดการเดินทางของแรงงานก่อสร้างให้มีส่วนในการ แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-๑๙ ให้น้อยที่สุด
กองบัญชาการตำรวจนครบาลยังร่วมกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยทหารในพื้นที่หรือที่ได้รับมอบหมายในการตรวจสอบ ควบคุมสถานที่ก่อสร้างและที่พักคนงานที่รวมตัวอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในและภายนอกสถานที่ก่อสร้างโดยให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามแรงงานเดินทางหรือเคลื่อนย้ายออกจากที่พักหรือที่ก่อสร้าง จำนวน ๒๙๘ แห่ง ทั่วกรุงเทพมหานครโดยได้จัดเจ้าหน้าที่กำกับดูแลสถานที่ดังกล่าวทั้ง ๒๙๘ แห่ง ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เขตหรือเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค ตำรวจและทหาร ผลัดละ ๖ นาย (หน่วยละ ๒ นาย) วันละ ๓ ผลัด ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
พล.ต.ต.ปิยะฯ กล่าวว่า การแสวงหาความร่วมมือจากผู้ประกอบการ เจ้าของสถานที่ที่มีการก่อสร้างหรือ ที่มีที่พักคนงาน โดยเจ้าของหรือผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบในการช่วยสอดส่องดูแลแรงงานก่อสร้างของตนเองด้วย นอกจากนี้การสร้างจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม, การป้องกันตนเองและชุมชนจากเชื้อไวรัส โควิด-๑๙, การลดการเดินทาง, การเคลื่อนย้ายหรือการสัมผัส และการเน้นย้ำการปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดหรือมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน จะทำให้การควบคุม การแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ผล แล้วจะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-๑๙ ดีขึ้น