พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. และ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์นำเสนอเรื่อง “แม่บ้านหาเงินกู้ออนไลน์ แต่กลับถูกหลอกโอนเงินซ้ำหมดไปหมื่นกว่าบาท” ว่า
ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่ค่อนข้างซบเซา การค้าขายฝืดเคือง อาจส่งผลให้พี่น้องประชาชนหลายคนไม่สามารถหารายได้ได้เท่าเดิม ทำให้หลายคนต้องแสวงหาแหล่งกู้ยืมเงินที่เข้าถึงได้ง่าย ในปัจจุบันก็มี “สินเชื่อเงินสดออนไลน์” ปรากฎขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งก็มีทั้งรายที่กู้เงินได้จริงและบางรายที่เป็นมิจฉาชีพ
รูปแบบของการหลอกลวงผ่านการปล่อยสินเชื่อออนไลน์บังหน้านั้น เมื่อผู้กู้มายื่นเรื่องขอกู้ ก็มักจะให้ผู้กู้โอนเงินไปบางส่วนเพื่อเป็นค่าค้ำประกันเงินกู้และบอกว่าจะคืนเงินส่วนนี้ให้หลังจากชำระหนี้หมดแล้ว จากนั้นเมื่อผู้กู้โอนเงินไปแล้ว ปรากฎว่าไม่สามารถติดต่อผู้ให้กู้ได้และไม่มีการโอนเงินในจำนวนที่ขอกู้มาให้ตามที่ตกลง ทำให้ผู้กู้ซึ่งเดิมทีก็ลำบากอยู่แล้ว ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวงซ้ำเข้าไปอีก
ในทางกฎหมายแล้ว การกระทำลักษณะดังกล่าวนั้นอาจเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการโฆษณาสินเชื่อดังกล่าวได้หรือมีผู้เสียหายจากโฆษณาดังกล่าวหลายคน อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงอาจจะเป็นความผิดฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อาจจะเข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ทาง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้ให้ความสำคัญ และตระหนักถึงภัยจากอาชญากรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการกระทำความผิดมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการพนันออนไลน์ การปล่อยสินเชื่อออนไลน์ รวมถึงการใช้สื่อออนไลน์กระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย จึงได้สั่งการ บช.สอท.เร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ โดยพล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. ได้สนองนโยบายดังกล่าว และสร้างการรับรู้ถึงพิษภัยต่างๆ บนโลกออนไลน์ พร้อมกับแนวทางการป้องกันให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป
รองโฆษก ตร. และโฆษก บช.สอท. จึงขอเรียนประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการหลีกเลี่ยงป้องกันการถูกหลอกลวงในรูปแบบของการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ มายังพี่น้องประชาชนว่า ควรวางแผนการเงินล่วงหน้าและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด, ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของตน ว่าจะสามารถชำระได้โดยที่ตนเองไม่เดือดร้อน, หากจำเป็นต้องกู้เงินจริงๆ ควรศึกษารายละเอียดของผู้ให้กู้ให้ดี เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบ, ควรเลือกกู้เงินจากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ ,มีสัญญาการกู้ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อผู้กู้ หากพบเห็นความไม่ชอบมาพากล ควรหลีกเลี่ยงเสีย และอย่าหลงเชื่อเพียงแค่คำโฆษณาสวยหรูว่ากู้ง่าย อนุมัติไว หรือหลงเชื่อรีวิวจากคนที่เราไม่รู้จัก ถึงแม้ว่าตนจะกำลังเดือดร้อนก็ควรจะใช้วิจารณญาณให้มาก มิเช่นนั้นอาจจะตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพก็เป็นได้