ตร.เตือนภัย เห็นเพื่อนโพสต์ขายของในสื่อสังคมออนไลน์ อย่ารีบโอนเงินอาจตกหลุมพรางโจรไซเบอร์ ก่อนซื้อเช็คให้ชัวร์ก่อนว่าเป็นเพื่อนเราจริงๆค่อยโอนเงิน
วันที่ 1 ก.พ. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝากประกาศแจ้งเตือนภัยพี่น้องประชาชนที่ใช้งานสังคมออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์เป็นวงกว้าง มีการแชตคุยกันกับเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ปัจจุบันคนร้ายจะพยายามแฮก เข้าถึงข้องมูลส่วนตัวโดยเฉพาะเฟซบุ๊ก แต่เดิมคนร้ายจะแฮกเอาบัญชีผู้เสียหายไปแล้วแอบอ้างเป็นเจ้าของบัญชีไปหลอกยืมหรือให้โอนเงิน อ้างเหตุว่าเดือนร้อน หรือซื้อของแล้วยังโอนเงินไม่ได้ ขอร้องผู้เสียหายที่เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กช่วยโอนเงินชำระให้ก่อน ถ้าโอนเงินได้แล้วจะรีบโอนคืนให้ทันที ซึ่งกลอุบายเดิมนี้ก็ยังมีใช้หลอกลวงอยู่
แต่ปัจจุบันนี้มีการพัฒนาขึ้นไปอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อคนร้ายแฮกบัญชีเฟซบุ๊กได้แล้วจะเข้าไปค้นหารูปสิ่งของต่างๆ ที่เจ้าของบัญชีเคยใช้ เช่น กระเป๋าแบรนด์เนมราคาแพง จากนั้นคนร้ายจะเอารูปสิ่งของนั้นมาโพสต์ประกาศขาย ในราคาถูกกว่าท้องตลาด โดยใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กที่แฮกได้โพสต์ขายหรือบางทีก็เอาไปโพสต์ตามกลุ่มหรือเพจซื้อ-ขายต่างๆ ทำให้เพื่อนในเฟซบุ๊กที่สนใจติดต่ออินบอกซ์เจรจาซื้อและโอนเงินไปให้คนร้าย
เรื่องนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติฝากประชาสัมพันธ์เลยว่า กรณีที่พบว่าเพื่อนเราในเฟซบุ๊กประกาศขายของต่างๆ ขอให้มีการตรวจสอบข้อมูลเจ้าของบัญชีคนที่ประกาศขายก่อนว่าเป็นเพื่อนเราจริงๆหรือไม่ วิธีการที่ดีที่สุดคือการโทรศัพท์พูดคุยเห็นหน้าหรือได้ยินเสียงเพื่อนคนนั้นก่อน สอบถามว่าเพื่อนในสังคมออนไลน์รายนั้นโพสต์ประกาศขายสินค้าจริงหรือไม่ เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นเพื่อนเราตัวจริงที่ประกาศขายสินค้านั้นๆ แต่ถ้าติดต่อสอบถามพูดคุยแล้วกลับไม่รับสาย ไม่ยอมพูดคุยด้วยไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ขอให้พึงระลึกและมองในแง่ลบไว้ก่อนว่าอาจจะไม่ใช่เพื่อนเรา สงสัยไว้ก่อนว่าน่าจะเป็นมิจฉาชีพแฮกบัญชีของเพื่อนเรามาหลอกลวง
ข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งคือบัญชีที่คนร้ายให้โอนเงินค่าสินค้าที่เอามาโพสต์ขายสินค้าจะเป็นบัญชีชื่อคนอื่นไม่ใช่ชื่อของเพื่อนเราในสังคมออนไลน์นั้นๆ โดยคนร้ายอาจจะกล่าวอ้างว่าเป็นบัญชีร้านค้าที่เขากำลังจะเอาเงินไปซื้อของอื่นพอดี ขอให้เราโอนเงินตรงไปร้านค้าเลย ข้อสังเกตนี้ก็ไม่ควรมองข้าม
สำหรับความผิดในการเข้าถึงบัญชีข้อมูลคอมพิวเตอร์ของคนอื่นนั้น มีความผิดตามมาตรา 7 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท และถ้าเข้าถึงข้อมูลคนอื่นแล้วมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูล เช่น แก้ไขเปลี่ยนรหัส จะมีความผิดเพิ่มตามมาตรา 9 มีความผิดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากแฮกบัญชีคนอื่นได้แล้วนำไปหลอกลวงผู้อื่นจะมีความผิดในข้อหาฉ้อโกง รวมทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1)ด้วย มีความผิดจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ