เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 พ.ย. ที่ บก.ปอท. พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรจริญ รอง ผบก.ปอท. พร้อมด้วย พ.ต.อ.วัชรพันธ์ ศิริพากย์ ผกก.1 บก.ปอท. พ.ต.ท.เอกพล แสงอรุณ สว.กก.1 บก.ปอท. และ นายกฤษณ์ ไพโรจน์กีรติกุล ผู้อำนวยการป้องกันการทุจริตผลิตภัณฑ์สินเชื่อและสืบสวนสอบสวน ป้องกันอาชญากรรมทางการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมแถลงผลการจับกุมเยาวชน 4 ราย อายุระหว่าง 17-19 ปี พร้อมของกลาง ไอแพด 1 เครื่อง โดยติดตามจับกุมได้ที่ จ.พัทลุง แจ้งข้อหา “ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม
ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”
พ.ต.อ.ธรากร เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ต้องหาจะหาเหยื่อโดยเลือกผู้เสียหายที่โดนโกงจากการซื้อของตามออนไลน์แล้วไม่ได้สินค้า ซึ่งผู้เสียหายจะโพสต์ลงในเฟซบุ๊กหรือโซเชียลตามกลุ่มต่างๆ จากนั้นผู้ต้องหาที่แฝงตัวอยู่ก็จะส่งข้อความอ้างเป็นธนาคารแสดงความช่วยเหลือ จากนั้นก็จะส่งลิ้ง SCB connect ปลอมพร้อมโลโก้ธนาคารก่อนสอบถามทางคดีและหว่านล้อมให้ผู้เสียหายส่งข้อมูลส่วนตัว อาทิ วันเดือนปีเกิด รหัสผ่าน และ รหัส OTP เพื่อเข้าใช้บัญชีของผู้เสียหาย ก่อนทำการโอนเงินออกไปยังบัญชีเหยื่อ ซึ่งมีผู้เสียหายมากกว่า 10 คน มูลค่าความเสียหายนับ 1 ล้านบาท โดยเหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562
ด้าน พ.ต.ท.เอกพล เผยว่า สำหรับผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นเยาวชนในจังหวัดภาคใต้ ระดับ ปวช. ที่สนใจศึกษาด้านเทคโนโลยี ซึ่งเงินที่ได้มาจะนำมาเฉลี่ยแบ่งกัน แล้วนำไปใช้จ่ายทั่วไปและเล่นการพนัน
ส่วน นายกฤษณ์ ระบุว่า ข้อสังเกตของประชาชนเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ โดยลักษณะ line office ของธนาคารไทยพานิชย์ของจริงจะมีสัญลักษณ์ตราโล่ห์เป็นสีเขียวเท่านั้น นอกจากนี้ธนาคารจะไม่มีการขอรหัส OTP รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า เพราะธนาคารมีฐานข้อมูลเดิมอยู่แล้ว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้แนะนำเทคนิคว่าหากจำเป็นต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวลงเว็ปไซต์ต่างๆ ถ้าไม่แน่ใจให้กรอกข้อมูลปลอมลงไป เมื่อกรอกครบแล้วไปยังเลื่อนหน้าถัดไปแสดงว่าเว็ปดังกล่าวเป็นเว็ปปลอมทันที ทั้งนี้ ควรศึกษาข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ต อย่างระมัดระวัง
ทั้งนี้ บก.ปอท.โดย พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ โฆษก บก.ปอท.ฝากเตือนว่า ปัจจุบันพบกลุ่มมิจฉาชีพได้สรรหาวิธีในการที่จะหลอกประชาชน เบื้องต้นทางเครือข่ายผู้ให้บริการพยายามที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการล็อกรหัส otp เพื่อป้องกันอันดับแรก แต่คนร้ายก็พยายามหาวิธีที่จะหลอกเอารหัส otp จากประชาชน
ขอย้ำว่าการกรอกรหัสดังกล่าวจะต้องทำด้วยตนเองเท่านั้น ไม่ควรให้ผู้อื่นเป็นคนกรอกแทนโดยเฉพาะคนที่ไม่รู้จัก เพราะการกรอกรหัส otp จะทำให้เข้าถึงการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านมือถือ เช่น ธุรกรรมการเงินได้
คนร้ายที่ก่อเหตุลักษณะนี้เบื้องต้นถือว่าเข้าข่ายความผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ