เมื่อเวลา 11.10 น. วันที่ 8 พฤศจิกายน ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. แถลงการเตรียมความพร้อมรับมือการชุมนุมกลุ่มราษฎร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ช่วงเย็นวันนี้
โดย พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ได้จัดวางกำลังตำรวจ 59 กองร้อย หรือ 9,145 นาย แบ่งพื้นที่รับผิดชอบเป็น 3 พื้นที่ โซนที่ 1 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และพื้นที่โดยรอบ ตั้งแต่ถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถึงแยกผ่านฟ้า อยู่ในความรับผิดชอบของ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รอง ผบก.น.1 รักษาราชการแทน ผบก.น.1 โซน2 พื้นที่สนามหลวง ถนนโดยรอบสนามหลวง ศาลฎีกา และบริเวณใกล้เคียง อยู่ในความรับผิดชอบของ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 และโซน 3 ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้า แยก จปร. แยกมัฆวาน ถึงบริเวณทำเนียบรัฐบาล และพื้นที่โดยรอบ อยู่ในความรับผิดชอบของ พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย รอง ผบช.น. พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น.
ทั้งนี้ทาง บช.น. ฝากเตือนผู้ชุมนุม และผู้จัดการชุมนุม ในมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ห้ามมิให้มีการชุมนุมระยะ 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วัง ที่ประทับ หรือที่พำนัก ห้ามมีการชุมนุมโดยเด็ดขาด หากผู้ชุมนุมฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษตามกฎหมายแน่นอน
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า ทางการข่าวทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้ถนนราชดำเนินกลาง ถนนนครสวรรค์ ซึ่งตำรวจได้ตั้งแนวตั้งรับจุดสุดท้ายที่ผู้ชุมนุมไม่สามารถผ่านได้บริเวณ แยก จปร. สะพามัฆวานรังสรรค์ ส่วนฝั่งสนามหลวง บริเวณถนนมหาธาตุ ทั้งนี้ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. อยู่ระหว่างพิจารณาประกาศให้พื้นที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นพื้นที่ห้ามการชุมนุมในระยะ 50 เมตร ด้วย นอกจากนี้การข่าวยังระบุอีกว่าผู้ชุมนุมอาจเคลื่อนที่แบบดาวกระจายไป 22 จุด ทางตำรวจได้จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว
ทางนครบาลยืนยันว่าไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปบริเวณเขตพระราชฐานอย่างเด็ดขาด โดยจะมีมาตรการต่าๆ เพื่อย้ำเตือนไม่ให้ผู้ชุมนุมฝ่าฝืน แต่ถ้าผู้ชุมนุมฝ่าฝืนเข้ามาในระยะ 150 เมตร แม้จะไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว แต่ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามมาตรการทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่การแจ้งเตือน ให้ข้อมูล และการตั้งแนวเพื่อเตือนว่าเป็นเขตอันตราย ห้ามฝ่าฝืน ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมจะเขียนข้อความต่างๆ นั้น หากข้อความไม่มีผลกระทบหรือผิดกฎหมาย สามารถดำเนินการได้
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า วันนี้ทราบว่ามีเพียงกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. ได้แจ้งการชุมนุม มีวัตถุประสงค์ จำนวนคน และระยะเวลาในการชุมนุมที่ชัดเจน ทั้งนี้อยากฝากถึงผู้ชุมนุมว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ได้ระบุไว้ว่าก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าพนักงาน เรื่องการจัดชุมนุมให้มีความสงบเรียบร้อย ปราศจากอาวุธ อย่างไรก็ตามแม้แต้งการชุมนุมแล้ว แต่หากทำผิดกฎหมายต่างๆ หรือฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ต้องดำเนินการตามกฎหมายเช่นกัน
ถามว่าหากมีการเผชิญหน้าของกลุ่มผู้ชุมนุม 2 กลุ่ม ตำรวจจะรับมืออย่างไร พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า เป็นข้อห่วงใยของทาง บช.น. จึงได้จัดกำลังไว้ในการรักษาความสงบเรียบร้อยพื้นที่โดยรอบจุดนั้น ยืนยันว่ากำลังตำรวจเพียงพอไม่ให้สองกลุ่มปะทะกัน
ถามว่าล่าสุดมีการสร้างสถานการณ์จากมือที่สาม โดยการปาระเบิดปิงปองที่สถานีรถไฟฟ้าท่าพระ ตำรวจจะมีมาตรการดูแลผู้ชุมนุมอย่างไรบ้าง พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า อยากให้ผู้ชุมนุมมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแจ้งการชุมนุม กำหนดมาตรการร่วมกัน ตำรวจจะได้แจ้งเงื่อนไข ข้อห้าม ข้อบังคับ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ว่าทำอะไรได้บ้าง การตั้งจุดตรวจคัดกรอง การตรวจอาวุธโดยเจ้าหน้าที่ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น อย่างกรณีเหตุการณ์ที่รถไฟฟ้าท่าพระ จากการสืบสวนและทดสอบ ปรากฎว่าประทัดที่จัดไม่สามารถทิ้งลงมาจากชั้น2 หรือบนอาคารได้ ก็แสดงว่าการจุดประทัดนั้นอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมเอง เพราะฉะนั้น หากไม่แจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย ไม่ได้วางมาตรการรักษาความปลอดภัยร่วมกันกับตำรวจ ก็อาจจะมีเหตุแบบนี้ขึ้น