เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 18 มิ.ย. ที่ บก.ปคบ. พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร.พร้อมด้วย พ.ต.อ.ศรีศักดิ์ คัมภีรญาณ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เชษฐ์พันธ์ กิติเจริญศักดิ์ ผกก.1 บก.ปคบ. และ เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. ร่วมแถลงผลการตรวจยึด “ถุงมือทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรุฐาน” และ สินค้าไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มูลค่าความเสียหายกว่า 52 ล้านบาท
พล.ต.ท.เพิ่มพูน กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลกและต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก โดยผู้ประกอบการผลิตบางรายไม่คำนึงถึงคุณภาพตาม มอก. ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ โดย ปคบ. ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่ามีโกดัง 2 แห่ง นำถุงมือทางการแพทย์ที่ใช้แล้วจากประเทศเพื่อนบ้านมาหลอกขายในราคาสินค้าใหม่แกะกล่อง ซึ่งสินค้าดังกล่าวผู้ร้องเรียนจะต้องนำไปใช้ เพื่อป้องกันโรครวมทั้งป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้เกิดอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
พล.ต.ท.เพิ่มพูน กล่าวอีกว่า กระทั่งวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตำรวจ ปคบ. สนธิกำลังกับ จนท.อย. ขออนุมัติหมายค้นจากศาล เข้าตรวจ 2 จุด ได้แก่บริษัทแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่เลขที่ 79 หมู่ที่ 2 ต.บึงชำอ้อ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ขณะเข้าทำการตรวจคัน พบว่ากำลังผลิตบรรจุถุงมือลงกล่อง เพื่อเตรียมจัดส่งให้กับลูกค้า และพบถุงมือบรรจุในกระสอบเป็นจำนวนมาก และ 2.บริษัท ย่านพระราม 2 ตั้งอยู่ เลขที่ 396 ถ.พะราม 2 ซอย 44 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ซึ่งมีลักษณะเป็นโกดังเก็บสินค้า
ผลการตรวจค้นพบถุงมือบรรจุในกระสอบเป็นจำนวนมากจึงได้ทำการตรวจยึดและอายัด ของกลาง 1.กระสอบสีขาว บรรจุถุงมือยาง จำนวน 1,945 กระสอบ รวม 10,835,000 ชิ้น 2.ลังบรรจุกล่องกระดาษสีขาวฟ้า บรรจุ Examination Glove จำนวน 656 ลัง รวม 656,000 ชิ้น 3.ลังบรรจุถุงมือยาง จำนวน 95 ลัง รวม 9,500 ชิ้น 4.กล่องเปล่าสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ จำนวน 500 กล่อง และคอมพิวเตอร์รวมถึงอุปกรณ์ รวมของกลางมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท
ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าวต่อจากการสอบสวนเบื้องต้น เข้าข่ายความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และ ความผิดฐานไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ ผลิตเครื่องมือแพทย์ปลอม ขายเครื่องมือแพทย์ที่ลวงให้เข้าใจผิด เรื่องชื่อ ส่วนประกอบ คุณภาพ ชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ปลอดภัย โดยไม่ถูกสุขลักษณะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์
ด้าน เภสัชกรหญิงสุภัทรา กล่าวว่า สำหรับถุงมือทางการแพทย์นั้นบุคลากรทางการแพทย์จะสวมใส่เพื่อป้องกันการติดต่อเชื้อโรคจากผู้ป่วย จึงต้องมีมาตรฐาน แต่ผู้ประกอบการบางส่วนกลับฉวยโอกาสหลอกขายสินค้าไม่ได้คุณภาพ ทั้งนี้ หากพบถุงมือทางการแพทย์ยี่ห้อไม่น่าเชื่อถือไม่ควรนำมาใช้เพราะไม่สามารถป้องกันความปลอดภัยได้
ด้าน พ.ต.อ.ศรีศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ช่วงวิกฤตโควิด-19 ประชาชนได้สั่งซื้อสินค้าออนไลน์จำนวนมาก โดยตำรวจ บก.ปคบ. เข้าตรวจค้นสถานที่แหล่งผลิต นำเข้า และจําหน่ายสินค้าประเภทต่างๆ ที่อาจไม่เป็นไปตามข้อกําหนดบังคับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ในช่วงระหว่างวันที่ 1-16 มิ.ย.63 จำนวน 10 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น 16,721 รายการ ทั้ง ชุดปลั๊กพ่วง , เตารีดไฟฟ้า , หม้อชาบู , ฝักบัวอาบน้ำ , หลอดไฟแอลอีดี , ของเล่นเด็ก , เตาปิ้งย่าง , กระทะไฟฟ้า , เครื่องหนีบผมและไดร์เป่าผมไฟฟ้า รวมมูลค่ากว่า 2.6 ล้านบาท ซึ่งเข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม